โรคทิ้งของไม่ลง มักจะเสียดายของ 5 ประเภทนี้ คุณเป็นอยู่หรือเปล่า

โรคทิ้งของไม่ลง มักจะเสียดายของ 5 ประเภทนี้ คุณเป็นอยู่หรือเปล่า

โรคทิ้งของไม่ลง ชอบเก็บสะสมสิ่งของ หรือที่เรียกว่า Hoarding Disorder ถือเป็นโรคทางจิตที่ควรรักษา อาการคือ ผู้ป่วยจะรู้สึกอยากเก็บของทุกอย่างเอาไว้

ไม่สามารถตัดใจทิ้งสิ่งไหนได้เลย โดยแรงจูงใจที่ทำให้อยากเก็บของนั้นไว้ คือ คิดว่าของเหล่านั้นยังมีประโยชน์ สามารถเก็บไว้ใช้งานในอนาคตได้

เก็บจนรกบ้านหรือกินพื้นที่ใช้สอยในบ้านไปหมด จนกระทั่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของตนเองและผู้อื่น ลองมาสำรวจกันว่าเรามีแนวโน้มจะเป็นโรคนี้หรือเปล่า

1. ทิ้งถ่านไฟฉายเก่าไม่ลง

เชื่อว่าบางคนอาจเคยเป็น การที่ซื้อถ่านไฟฉายมาใช้ แต่เมื่อใช้จนถ่านหมดแล้ว ก็ยังเก็บถ่านไฟฉายไว้ เพราะคิดว่าสักวันคงได้เอากลับมาใช้งานอีก

(แต่ก็ไม่เคยได้เอามาใช้จริงๆ) ถึงแม้จะเคยได้ยินว่ามีวิธีต่ออายุให้ถ่านไฟฉาย สามารถกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง

แต่สุดท้ายก็ไปซื้อก้อนใหม่มาใช้เหมือนเดิม พอหันกลับไปมองก็เห็นมีอยู่หลายก้อนเป็นกองขยะ รกบ้านไปซะแล้ว

2. ทิ้งแปรงสีฟันเก่าไม่ลง

สำหรับแปรงสีฟันที่ใช้ไปนานๆ เริ่มเก่า ได้เวลาเปลี่ยนแปรงใหม่แล้ว แต่เมื่อซื้อแปรงใหม่มาใช้ กลับไม่ยอมทิ้งแปรงเก่าไป เพราะคิดว่าจะเก็บไว้ใช้ประโยชน์ได้อีก

เช่น เอาไว้ขัดซอกเล็กๆ ที่สกปรกในห้องน้ำ หรือไว้ทำความสะอาดอะไรสักอย่างในอนาคต แต่คุณเคยนับไหมว่า ได้เอามาใช้งานจริงๆ สักกี่ครั้ง?

3. ทิ้งหนังสือเรียนเก่าไม่ลง

หลายคนชอบเป็น กับการรู้สึกเสียดายของ อย่างหนังสือเรียนเก่าๆ ที่เรียนจบไปแล้ว แต่ก็ยังเก็บไว้เต็มบ้าน จะทิ้งก็เสียดาย

คิดแต่ว่าสักวันคงได้เอาออกมาอ่านอีก ความรู้ทั้งนั้นจะทิ้งไปได้ไง สุดท้ายก็กองเต็มบ้านเป็นภูเขา และไม่เคยได้เอากลับมาอ่านอีกสักที

4. ทิ้งรองเท้าเก่าๆ ไม่ลง

รองเท้าคู่เก่า ที่ชำรุดจากการใช้งานหนัก หรือมีตำหนินิดหน่อย แต่ก็ยังใส่ได้อยู่ (ถึงจะไม่เคยได้เอามาใส่อีกก็เถอะ)

กลับเก็บไว้เต็มตู้รองเท้า เน่าบ้างดีบ้าง ปนกันมั่วไปหมด เพราะคิดว่าคงเอากลับมาซ่อม และได้ใช้งานอีกครั้ง (แต่ก็ไม่ซ่อมสักที)

5. ทิ้งกล่องกระดาษไม่ลง

คิดว่าหลายคนต้องเป็นแน่ๆ เวลาที่มีคนซื้อของขวัญห่อใส่กล่องมาให้ หรือเวลาที่สั่งของทางออนไลน์ แล้วเขาส่งของห่อใส่กล่องมา เมื่อแกะของออกมาแล้ว

ก็นึกเสียดายกล่อง กะว่าจะเก็บไว้เผื่อได้ห่อของขวัญให้ใครอีก จะได้ไม่ต้องไปหากล่องใส่ให้ยุ่งยาก เก็บไว้จนล้นห้อง แต่ก็ไม่เคยได้ใช้ประโยชน์อย่างที่คิดไว้

ที่จริงแล้วโรคทิ้งของไม่ลง ผู้ป่วยจะไม่สามารถแยกแยะหมวดหมู่สิ่งของได้เลย จนเก็บของทุกอย่างปะปนกันมั่วไปหมด

แต่หากคุณมีอาการเสียดายสิ่งของ 1 ใน 5 ประเภทนี้ ก็เป็นสัญญาณเตือนว่า ในอนาคตคุณอาจมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคทิ้งของไม่ลงได้เช่นกัน

โรคนี้สามารถรักษาได้ด้วยการบำบัดพฤติกรรม และปรับความคิดใหม่ สอนให้ผู้ป่วยลำดับความสำคัญของสิ่งของ และอธิบายด้วยเหตุผล

เรียบเรียงโดย – อ่านสนุก