เป็นกันไหม เวลามีเงินติดตัวแล้วอยากใช้ตลอด กล้าควักซื้อของราคาแพงๆ แบบง่ายดาย
เรื่องนี้มีงานวิจัยด้านจิตวิทยา อธิบายไว้ว่า เพราะการใช้เงิน ช่วยเพิ่มความสุขได้
จึงไม่แปลกถ้าเราจะอยากซื้อนู่นซื้อนี่ เมื่อพกเงินจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม แม้การใช้เงินจะทำให้มีความสุข ในช่วงเวลานั้นก็จริง
แต่หากใช้มากจนเกินตัว อาจนำมาสู่ความทุกข์ในภายหลังได้เช่นกัน
วันนี้เราจึงมีทริคง่ายๆ เอาไว้แก้ปัญหามีเงินติดตัวแล้วอยากใช้ ต้องทำอย่างไรถึงจะเก็บเงินอยู่
1. สร้างเป้าหมายให้ตัวเอง
คนส่วนมากที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยจนไม่มีเงินเก็บ เหตุผลหนึ่งก็เพราะ ไม่รู้ว่าจะเก็บเงินไปทำไม
เพราะฉะนั้น ลองหาเป้าหมายที่ชัดเจนของตัวเองดู ว่าเก็บเงินเพื่ออะไร เป็นจำนวนเท่าไหร่
ภายในระยะเวลาแค่ไหน เช่น ภายใน 1 ปี จะเก็บเงินเรียนต่อ หรือเก็บเงินซื้อบ้านในอีก 5 ปี เป็นต้น
แบบนี้จะทำให้เห็นภาพชัดขึ้น และมีแรงกระตุ้นในการเก็บเงิน อาจเริ่มด้วยเป้าหมายเล็กๆ
ที่ใช้เงินจำนวนไม่มากก่อนก็ได้ เมื่อทำสำเร็จค่อยขยับเป้าหมายให้ใหญ่ขึ้นต่อไป
2. เก็บก่อนใช้
ถ้ารู้ตัวว่าเป็นคนที่ควบคุมการใช้เงินไม่ค่อยได้ เมื่อเงินเดือนออกก็อย่าเพิ่งกดเงินสด
มาเข้ากระเป๋าจนหมด เดี๋ยวจะเผลอจ่ายกระจาย แต่ควรกันเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินออมทันที
สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการเปิดบัญชีสำหรับออมเงินแยกต่างหาก แล้วสมัครบริการโอนเงินอัตโนมัติ
หักจากบัญชีเงินเดือน ตามจำนวนที่เราอยากจะออมเลย เช่น เดือนละ 2,000 บาท
หรือ 10% ของรายได้ โดยควรเลือกบัญชีที่ให้ดอกเบี้ยสูงหน่อย เช่น บัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง
หรือบัญชีฝากประจำ และสำคัญที่สุด ต้องเป็นบัญชีที่ไม่มีบัตรเดบิต
ไม่สมัคร Internet Banking ได้ยิ่งดี จะได้ไม่ต้องเผลอกดเงินออกมาใช้ หรือมือลั่นสั่งสินค้า
ช้อปปิ้งออนไลน์จนหมดเสียก่อน เท่านี้ก็จะช่วยให้เราออมเงินได้ อย่างมีวินัยสม่ำเสมอแน่นอน
3. เปิดบัญชีร่วม
การเปิดบัญชีร่วมกับคนในครอบครัวที่ไว้ใจได้ หรือสามีภรรยา ก็เป็นอีกแนวทาง
ที่ช่วยได้ดีทีเดียว เพราะเวลาจะถอนเงินแต่ละครั้ง มักมีขั้นตอนที่ยุ่งยากพอสมควร
ต้องพากันไปธนาคารทั้งคู่ แล้วเซ็นชื่อยินยอมทั้ง 2 ฝ่าย นอกจากนี้
เวลาจะถอนเงินไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย จะได้มีคนคอยช่วยเตือนเรื่องการใช้เงินอีกด้วย
4. เหลือเงินไว้น้อยๆ ในบัญชีที่ใช้ทำธุรกรรมออนไลน์
สมัยนี้คงปฏิเสธการใช้ Internet Banking ไม่ได้แล้ว เพราะเป็นช่องทางที่
ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย แต่นี่แหละที่ทำให้การใช้จ่ายเงินทำได้ง่ายเหลือเกิน
เผลอไม่ทันไรก็กดซื้อของ จนเงินเกลี้ยงบัญชีแล้ว ดังนั้น แนะนำว่า
สำหรับบัญชีเงินฝาก ที่มี Internet Banking ให้เหลือเงินติดบัญชีน้อยที่สุด
เพื่อจะได้จำกัดการใช้เงิน ไม่ให้หมดไปกับของฟุ่มเฟือยแบบไม่รู้ตัว
5. อย่าพกเงินสดเยอะ
คนที่เก็บเงินไม่อยู่ ส่วนมากมักจะควบคุมการใช้เงินของตัวเองไม่ได้
เห็นอะไรก็อยากซื้อ อยากได้ไปหมด เคยสังเกตไหมว่า เวลาเรามีแบงก์พันติดกระเป๋าทีไร
มักจะหมดเร็วทุกที พอมีเงินเยอะแล้วทำให้เรากล้าซื้อ เพราะฉะนั้น วิธีแก้ง่ายๆ คือ
อย่าพกเงินสดติดกระเป๋าเยอะ แต่เปลี่ยนมาใช้วิธีกำหนดไปเลยว่า
จะใช้เงินไม่เกินวันละกี่บาท ก็พกเท่านั้นพอ ถ้ามีเหตุฉุกเฉินจำเป็นจริงๆ
ค่อยไปกดเงินเอาทีหลัง เท่านี้ปัญหามือเติบ ใช้เงินเกินตัว ก็จะค่อยๆ หมดไป
6. เก็บเงินในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่เงินสด
หลายคนเห็นเงินสดไม่ได้ เป็นต้องหยิบออกมาใช้ทุกที เอาเป็นว่า
ลองเปลี่ยนไปเก็บเงินไว้ในรูปแบบอื่น ที่ไม่สามารถถอนออกมาใช้ได้ง่ายๆ เช่น
เปิดบัญชีเงินฝากประจำ หรือซื้อสลากออมทรัพย์ ก็นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย
7. นำเงินไปลงทุน
ลองคิดดูเล่นๆ ถ้าเปลี่ยนเงินที่เราใช้จ่ายฟุ่มเฟือยแต่ละเดือน มาลงทุนแทน
เมื่อเวลาผ่านไป เงินจำนวนนั้นจะเติบโตขนาดไหน ยิ่งปัจจุบัน
การลงทุนก็มีหลากหลายรูปแบบ ให้เลือกตามความเสี่ยงที่รับได้ เช่น
กองทุนรวม หุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ คริปโตเคอร์เรนซี เป็นต้น
ถึงแม้ว่าการลงทุนจะมีความเสี่ยง มีโอกาสขาดทุน แต่อย่างน้อยก็ยังดีกว่า
ปล่อยให้หมดไปกับของฟุ่มเฟือย โดยไม่ก่อประโยชน์อะไรเลย
8. เลี่ยงเข้าแอป หรือเว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์
ถ้าอยากเก็บเงินให้ได้จริงๆ เลี่ยงได้เลี่ยงไปเลย กับเว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์
เพจขายของ เพจบอกโปรโมชั่น รวมโปรโมชั่นต่างๆ จะได้ไม่ต้องเห็นสินค้า
ล่อตาล่อใจจนเกิดกิเลส ทำเงินหายเกลี้ยงในพริบตาเหมือนที่ผ่านมา
9. เปลี่ยนมาซื้อของที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอนาคต
ถ้าคิดว่าตัวเองยังติดนิสัยชอบใช้เงิน ยังอยากซื้อของตลอดเวลาอยู่ล่ะก็
เอาเป็นว่าแทนที่จะไปซื้อของฟุ่มเฟือย ลองเปลี่ยนมาลงทุนกับสินค้าแบรนด์เนม
หรือของสะสม ที่มีมูลค่าเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคต ดีกว่าไหม เช่น กระเป๋า รองเท้า
นาฬิกาแบรนด์ดัง หรือของสะสมหายาก เป็นต้น เพราะเมื่อเวลาผ่านไป สินค้าเหล่านี้
สามารถนำไปขายต่อได้ในราคาที่สูงขึ้น นับเป็นการลงทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ดี คุณต้องมีความเข้าใจในสินค้านั้นๆ และตลาดของมันเป็นอย่างดีด้วย
เพราะถ้าซื้อแบบรู้เพียงตื้นๆ ไม่ได้รู้ลึกรู้จริง ก็อาจขาดทุนได้ง่ายๆ เช่นกัน
10. หาคนช่วยเก็บ
ถ้าการเก็บเงินเองมันยากนัก ลองมาทุกวิธีแล้วยังไม่สำเร็จสักที
ก็หาคนใกล้ตัวมาช่วยดูแลให้หมดเรื่องไปเลย โดยควรเป็นคนในครอบครัว
เช่น พ่อ แม่ พี่น้องที่ไว้ใจได้ หรือคู่สมรส แล้วนำเงินไปฝากไว้กับคนนั้น
ให้เขาช่วยดูแลแทน เพราะถ้าเก็บไว้กับตัวเอง รับรองไม่มีเหลือแน่
เท่านี้เราก็จะค่อยๆ สามารถควบคุมการใช้เงิน ให้เริ่มมีเงินออมได้แล้ว