10 ภาวะผู้นำที่หัวหน้าควรมี ลูกน้องนับถือเป็นแบบอย่าง

10 ภาวะผู้นำที่หัวหน้าควรมี ลูกน้องนับถือเป็นแบบอย่าง

1. มอบหมายงานด้วยคำพูดที่สุภาพ

การมอบหมายงานนั้นมี 2 แบบ คือ ผ่านทางคำพูด และผ่านทางลายลักษณ์อักษร ซึ่งทั้ง 2 แบบนี้ควรทำไปด้วยกัน

โดยเฉพาะคำพูดที่ผู้นำต้องรู้จักมีสติในการมอบหมายงาน ใช้คำพูดในเชิงที่สร้างสรรค์ มีคำอธิบายที่ชัดเจน

และรู้จักยิ้มแย้ม แจ่มใส ถึงแม้สิ่งที่เจอจะมีแต่ปัญหาให้ขบคิด แต่เมื่อมีสติทางสว่างย่อมรออยู่ข้างหน้าครับ

2. มีภาวะผู้นำ ใช้ใจก่อนอำนาจที่มี

คิดง่ายๆ ครับ เราอยากได้สิ่งใดก็ควรให้สิ่งนั้นแก่ผู้อื่นก่อนเสมอ คนที่เป็นผู้นำที่ดี ต้องรู้จักใช้อำนาจในทางที่ดี

มากกว่าใช้อำนาจในทางที่ไม่ดี ไม่ทำให้คนอื่นเสียหาย เสียหน้า เสียใจ เสียความรู้สึก จากสิ่งที่ผู้นำกระทำ

และควรใช้ใจนำ เป็นกันเองต่อคนรอบข้าง แต่ก็พร้อมจริงจังกับการทำงาน เมื่อถึงเวลาทำงานใครทำดีก็ชื่นชม

ใครทำผิดก็ไม่นิ่งเฉยปล่อยวาง แต่รู้จักใช้คำพูดในเชิงบวก เปิดใจรับฟังข้อคิดเห็นของลูกน้อง นั่นล่ะครับผู้นำที่มีภาวะผู้นำ

3. ผิดรู้จักยอมรับและขอโทษเป็น

การทำงานในแต่ละวัน ย่อมมีโอกาสตัดสินใจผิดพลาด และหากความผิดพลาดนั้นเกิดจากผู้นำ ควรกล้ายอมรับและขอโทษ

คงไม่ใช่เรื่องแปลกครับ ดีกว่าฝืนดันทุรัง ทั้งๆ ที่รู้ว่าผิด การขอโทษเป็นสิ่งที่อย่างน้อย ทำให้ลูกน้องเห็นว่า ถึงแม้จะเป็นผู้นำ

ก็รู้จักพูดขอโทษเป็น และใช้บทเรียนแห่งความผิดพลาดนั้น เป็นเครื่องเตือนสติในการลงมือทำในครั้งต่อไปครับ

4. พร้อมให้เกียรติลูกน้องอยู่เสมอ

การเป็นผู้นำไม่จำเป็นต้องเล่นอยู่ข้างหน้าเสมอไป ทว่าควรผลักดันให้ลูกน้องมีโอกาสเติบโตในการทำงาน

โดยผู้นำทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง เป็นเบื้องหลังในการทำงานก็ย่อมได้ ซึ่งการเป็นเบื้องหลังจะทำให้เห็นการทำงานในภาพรวม

มากกว่าเล่นอยู่ข้างหน้า ซึ่งหากมอบหมายให้ลูกน้องได้พัฒนาการทำงานอยู่บ่อยๆ ผู้นำก็จะมีขุนพลไว้คอยทำงานต่างๆ ได้มากขึ้นครับ

5. รู้จักสร้างบรรยากาศที่ดี ในการทำงานร่วมกัน

ความสุขเกิดขึ้นได้ ถ้ามีบรรยากาศที่ดีในห้องทำงาน ซึ่งผู้นำควรหมั่นสร้างวัฒนธรรมในแผนกให้เกิดความปรองดอง

รักใคร่กลมเกลียว ไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกในที่ทำงาน โดยผู้นำก็ต้องรู้จักสื่อสารกับทุกๆ คนอย่างเท่าเทียม

ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง โดยอาจสร้างกิจกรรมภายใน เพื่อสร้างสรรค์บรรยากาศให้สนุกในการทำงาน

ปราศจากอารมณ์เชิงลบในที่ทำงาน ย่อมทำให้เกิดสุขภาพจิตที่ดี เบิกบาน อยากมาทำงานในทุกๆ วัน

หรือหากวันไหนงานติดพันไม่เสร็จ ก็สามารถอยู่ช่วยเหลือกันได้จนเสร็จสมบูรณ์

6. รู้จักใช้คนให้เหมาะสมกับงานที่ทำ

การเลือกใช้ลูกน้องให้เหมาะกับงานที่ทำ ถือว่าเป็นการสร้างแรงจูงใจที่ทำให้ลูกน้องมีความสุขกับงานที่ต้องทำในแต่ละวัน

ซึ่งความสุขผมเชื่อว่ามีความสำคัญมากๆ ครับ เพราะหากมีความสุขในสิ่งที่ทำ ผลลัพธ์ย่อมดีตามแน่นอน ทว่า หากไร้ซึ่งความสุข

ผลลัพธ์ย่อมออกมาตรงกันข้ามครับ ดังนั้น ผู้นำควรหมั่นสังเกตสิ่งที่ลูกน้องทำ และวิเคราะห์งานให้ออก

มอบหมายงานให้ถูกคน ถูกจริตของคน โดยใช้หลักการ DISC ซึ่งเป็นหลักการอ่านใจคน ย่อมช่วยได้แน่นอนครับ

7. รู้จักกระตุ้นสร้างแรงบันดาลใจต่อลูกน้อง

การทำงานย่อมต้องมีการประเมิน ติดตามผลของการทำงาน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ทว่า ผู้นำหลายๆ คน กลับไม่กล้าให้ F e e d b a c k ต่อลูกน้อง

เพราะกลัวลูกน้องจะไม่รัก ไม่ชอบ โดยเฉพาะหากผลงานของลูกน้องท่านนั้นไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น ผู้นำต้องเปลี่ยนความคิดก่อน

โดยมองเรื่องของงานเป็นหลัก ใครทำดีชื่นชม สร้างความท้าทายในงานที่ทำ ส่วนใครทำงานผิดพลาดบ่อยๆ ก็ต้องเรียกมาคุยเป็นการส่วนตัว

และให้คำชี้แนะ สอนงานในสิ่งที่ยังผิดพลาด โดยมีความเชื่อว่า คนทุกคนถึงแม้จะเรียนรู้ไม่เท่ากันแต่ ย่อมพัฒนาได้ถ้าเปิดใจ ซึ่งผู้นำต้องใช้หลักจิตวิทยา

กระตุ้น เน้นย้ำ สร้างแรงบันดาลใจอยู่บ่อยๆ ย่อมทำให้ลูกน้องที่ยังผิดพลาด รู้จักปรับเปลี่ยนตนเอง จนทำให้การทำงานดีขึ้นแน่นอนครับ

8. ยิ้มง่าย หัวเราะง่าย มีสัมมาคารวะ เป็นกันเอง

การเป็นผู้นำ บางคนเป็นผู้นำจากประสบการณ์ที่ทำงานมานาน บางคนเป็นผู้นำเพราะมีความเก่งในงาน ซึ่งการเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดๆ ก็ตาม

สิ่งที่สำคัญของการเป็นผู้นำนั่นคือ การให้เกียรติทุกๆ คนที่ร่วมงานกัน ไม่ว่าจะเป็นทีมตัวเอง และรวมถึงทีมอื่นๆ ที่ต้องประสานงานกัน

ดังนั้น การมีสัมมาคารวะต่อคนอื่น นับเป็นสิ่งที่สำคัญ และถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้ตามปฏิบัติตาม โดยเฉพาะการรู้จักทักทายผู้อื่น

ผ่านการยกมือไหว้คนที่อาวุโสกว่า การยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่บึ้งตึงต่อคนรอบข้าง สิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้การประสานงานเป็นไปอย่างราบรื่นครับ

9. รู้จักให้เกียรติไปร่วมงานส่วนตัวของลูกน้องบ้าง

การเป็นผู้นำ ไม่จำเป็นต้องใช้เงินในการเลี้ยงดูลูกน้องในแต่ละวัน แต่ก็ควรมีน้ำใจต่อลูกน้อง หากเป็นงานส่วนตัว

ที่ลูกน้องเรียนเชิญให้เกียรติไปร่วมงาน เช่น การบวช งานแต่ง งานศพ เป็นต้น ซึ่งในฐานะผู้นำ ก็ควรให้ความสำคัญ

เพื่อแสดงความมีน้ำใจต่อลูกน้อง เพราะการให้ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เมื่อให้ก่อนย่อมมีโอกาสได้รับสิ่งดีๆ อยู่เสมอครับ

10. พัฒนาตนเองอยู่เสมอ ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว

การสอนคนอื่น เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายครับ โดยเฉพาะการสอนคนอื่น โดยปราศจากการกระทำ เพื่อเป็นแบบอย่างให้ลูกน้องเห็นในทุกๆ วัน

ซึ่งคนที่เป็นผู้นำ ควรใช้หลักการสื่อสารที่ประกอบไปด้วย 3 ส่วน นั่นคือ การกระทำ 55% , น้ำเสียง 38% , คำพูด 7%

ในการพัฒนาตนเอง ก่อนพัฒนาลูกน้อง เพราะหากเราสนใจที่ลูกน้องก่อน ลูกน้องย่อมขาดความเชื่อถือจากสิ่งที่เราทำ

ทว่า หากเราทำให้เห็นเป็นตัวอย่างในทุกๆ วัน ทั้งเรื่องงาน และเรื่องส่วนตัว ย่อมสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของลูกน้องได้อย่างง่ายดาย

เช่น หากอยากสอนให้ลูกน้องมาเช้า ตรงต่อเวลา หรือมาก่อนเวลาอย่างน้อย 30 นาที ผู้นำก็ควรทำให้ลูกน้องเห็นจนชินตา

แบบนี้การสอนย่อมเป็นเรื่องง่าย และไม่ต้องพูดเยอะ ใช้การกระทำเป็นสื่อในการสอน แต่จะใช้การกระทำอย่างเดียวก็คงไม่ได้นะครับ

ควรต้องบอกผ่านคำพูด ด้วยน้ำเสียงที่ดี เป็นกันเองเพื่อเป็นการเน้นย้ำเตือนสติกันบ้าง เพราะคนส่วนใหญ่ต้องมีการกระตุ้นในช่วงแรก

จนเกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น หน้าที่การกระตุ้นก็คงไม่พ้นผู้นำ ที่ต้องแสดงให้ดูในทุกๆ วันครับ

การเป็นผู้นำทีมีภาวะผู้นำ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป หากเราเปิดใจ ใช้ใจก่อนอำนาจ รับฟังเสียงของทุกๆ คน

และพร้อมเป็นตัวอย่างที่ดีในทุกๆ เรื่อง ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เพื่อเปลี่ยนแปลงแนวคิดให้เป็นบวก ในการพัฒนาตนเอง

พัฒนาการทำงาน และสร้างวิสัยทัศน์ของการเป็นผู้นำแบบนี้ ย่อมได้ใจลูกน้องให้เชื่อ ชอบ และทำตามแน่นอนครับ

ที่มา : d r f i s h