12 วิธีประหยัดค่าใช้จ่าย ทำแบบนี้มีเงินเหลือแน่นอน

12 วิธีประหยัดค่าใช้จ่าย ทำแบบนี้มีเงินเหลือแน่นอน

เงิน..สิ่งสำคัญล้ำค่าที่กว่าจะหามาได้แต่ละบาท ก็เหนื่อยกันแทบขาดใจ แต่กลับร่อยหรอไปได้อย่างรวดเร็ว

ราวกับน้ำซึมลงในทราย บางคนได้รับเงินเดือนมาไม่กี่วันก็หมด แทบจะต้องต้มมาม่ากินกันไปทั้งเดือนก็ยังมี

นั่นก็เพราะการจัดสรรเงินที่ไม่ถูกต้อง และการใช้เงินอย่างขาดการวางแผนที่ดี ปัญหาเหล่านี้ต้องยอมรับว่า

เกิดขึ้นเพราะตัวเราเองทั้งนั้น แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถแก้ไขได้ การรัดเข็มขัด และการกินอยู่อย่างประหยัด

เป็นวิธีที่จะช่วยให้ตัวเลขที่ติดลบต่อเดือนหายไปได้ ด้วยวินัยการเงินที่เคร่งครัด ถ้าในวันนี้อยากจะเปลี่ยนแปลง

วิธีการใช้เงินของตัวเองละก็ ลองมาดู 12 วิธีใช้เงินอย่างประหยัด กินอยู่อย่างไรไม่ให้เงินหมดก่อนสิ้นเดือน วิธีเหล่านี้ช่วยคุณได้

1. ปลูกผักสวนครัวไว้ข้างบ้านก็ดีนะ

ข้อดีของการอยู่ในบ้านที่มีบริเวณ ก็คือสามารถปลูกผักสวนครัวเอาไว้รับประทานเองได้ ไม่จำเป็นต้องปลูกทุกอย่างที่คุณกิน

เลือกปลูกในสิ่งที่คิดว่าคุณจะต้องได้ใช้อยู่บ่อยๆ เช่น ใบกะเพรา พริก ใบมะกรูด มะนาว โหระพา หรือผักที่ปลูกง่าย ไม่ต้องดูแลเอาใจใส่มาก

แต่ถ้าใครอยู่คอนโดหรือหอพักก็ไม่ต้องเสียใจไป เดี๋ยวนี้มีวิธีสอนการปลูกผักแบบคอนโดให้ได้ลองไปทำตามอีกเพียบ ลองนำไปใช้ดู

รับรองว่าลดค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารการกินลงได้ แถมถ้าเหลือจากการเก็บไปรับประทาน จะนำไปขายก็ได้รายได้เสริมอีกด้วยนะ

2. แบ่งเงินออมทันทีหลังได้รับเงินเดือน

แม้จะไม่ใช่การใช้เงินอย่างประหยัดโดยตรงเสียทีเดียว แต่ก็เป็นวิธีที่ช่วยให้เราออมเงินได้ ไม่ต้องแบ่งเก็บคราวละมากๆ

ออมเงินในปริมาณที่เราสามารถทำได้ โดยที่ไม่กระทบค่าใช้จ่ายของตนเองมากนัก โดยอย่างน้อยก็ควรจะแบ่งไว้ออมประมาณ 5-10%

ของเงินที่ได้รับในแต่ละเดือน ซึ่งเงินก้อนนี้หากคุณไม่ตบะแตกหยิบออกมาใช้เสียก่อน ก็จะกลายเป็นเงินเก็บ

ที่คุณภาคภูมิใจในอนาคต อีกทั้งถ้าหากเกิดเรื่องฉุกเฉินอะไร จะได้ไม่ต้องไปหยิบยืมใครให้ลำบากใจยังไงล่ะ

3. เช็กราคาก่อนซื้อ

สิ่งของที่เราคิดว่าซื้อมาในราคาย่อมเยา บางครั้งอาจจะแพงกว่าบางที่โดยที่ไม่รู้ตัว ฉะนั้น ถ้าไม่อยากจะเสียส่วนต่างของราคาไปง่ายๆ

ควรเช็กราคาให้ดีก่อนที่จะซื้อ โดยเลือกที่ดูแล้วการซื้อครั้งนั้นจะคุ้มค่าที่สุด แม้ว่าอาจจะไม่ถูกที่สุด

แต่ถ้าหากเมื่อเทียบกับค่าเดินทาง หรือค่าขนส่งแล้วประหยัดได้มากกว่า ก็เลือกซื้ออันนั้นเลย ที่สำคัญ อย่าลืมดูที่คุณภาพด้วยนะ

4. ทำอาหารรับประทานเองสิ

สำหรับคนที่พอจะมีฝีมือปลายจวักอยู่บ้าง การทำอาหารรับประทานเอง ก็เป็นความคิดที่ดี นอกจากเราจะได้รสชาติอาหารที่ถูกปากเราแล้ว

ก็ยังสามารถเลือกวัตถุดิบดีๆ มาปรุงอาหาร แถมยังไงก็ถูกกว่าการไปซื้ออาหารสำเร็จรูปรับประทานข้างนอกแน่ๆ

แต่ถ้าใครทำอาหารไม่เป็น จะลองฝึกทำก็ถือเป็นการเพิ่มพูนทักษะไปในตัว นอกเสียจากว่าคุณเป็นคนที่ไม่ถนัดทำอาหารจริงๆ

ทำแล้วต้องเททิ้งตลอด แบบนี้อย่าทำเองเลยดีกว่า เดี๋ยวจะพาลทำให้เสียของเสียเงินยิ่งกว่าเดิม

5. ลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน

การรับประทานอาหารนอกบ้าน ถึงจะสะดวกแต่ก็เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงไม่เบา เพราะนอกจากราคาอาหารแล้ว ร้านอาหารก็ต้องบวกค่าภาษี

บวกค่าบริการ บวกค่าแก๊ส ค่าแอร์ในร้าน โอ๊ย..อีกสารพัดอย่างที่นึกได้ แล้วเราจะยอมเสียค่าใช้จ่ายเหล่านั้นไปทำไมบ่อยๆ

ในเมื่อเราสามารถเก็บออมส่วนนั้นไว้ได้ โดยอาจจะลดการไปกินอาหารนอกบ้านลง จากสัปดาห์ละครั้ง ก็เหลือเดือนละครั้งดูก่อน

หรือลองห่อข้าวกล่องไปรับประทานตอนกลางวัน หรือรีบกลับบ้านมารับประทานอาหารเย็นที่บ้านทุกวันดูสิ รับรองว่าเหลือเงินเก็บมากขึ้นแบบเห็นๆ

6. จำกัดการใช้เงินของตัวเองในแต่ละวัน

อาจจะเป็นวิธีที่เคร่งครัดไปนิด แต่ก็เป็นการฝึกวินัยการใช้เงินที่ดี กำหนดไปเลยว่าเราต้องจะใช้วันละเท่าไร โดยในเงินจำนวนนั้น

อาจจะรวมค่าเดินทาง ค่าอาหาร และอาจจะพอให้มีเหลือกินขนมนมเนยอีกนิด แบ่งเงินที่ต้องใช้ในแต่ละวันใส่ถุงหรือใส่ซองเอาไว้

หยิบไปวันละซอง และไม่ว่าอย่างไรก็ห้ามใช้เกินกว่านี้ ถ้าทำติดต่อกันได้สัก 1 เดือน นิสัยในการใช้เงินของคุณเปลี่ยนแน่นอน

7. เลือกซื้อของที่คุณภาพไม่ใช่ราคา

บางคนอาจจะคิดว่า การเลือกซื้อของที่ราคาถูกกว่า และคุณภาพน้อยลงหน่อย น่าจะช่วยเซฟเงินได้บ้าง

แต่ถ้ามาเทียบกันจริงๆ แล้ว การซื้อของที่มีคุณภาพดี แต่ราคาเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย ย่อมคุ้มค่ากว่านะ

ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือของใช้ต่างๆ เมื่อมีคุณภาพที่ดีกว่า ย่อมมีอายุการใช้งานที่นานกว่าอยู่แล้ว ฉะนั้นแทนที่จะมองเรื่องราคา

หันมามองที่คุณภาพจะดีกว่า จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจทีหลัง หากของใช้ที่ซื้อมาเกิดพังแล้วค่าซ่อมแซมแพงกว่าตอนที่ซื้อมา

8. ต่อราคาบ้างก็ได้

รู้หรือไม่ว่าแม่ค้าบางร้าน ก็ตั้งราคาเผื่อต่อให้กับลูกค้าเอาไว้แล้ว ของบางชิ้นที่เราเห็นว่าแพง ที่จริงแล้วอาจจะลดราคาลงได้อีก

ยิ่งถ้าหากเป็นแม่ค้าบางคนที่กล้าได้กล้าเสีย ยอมลดราคาให้คุณแบบแทบไม่เอากำไรด้วยล่ะก็ ถ้าไม่ลองต่อราคาสักหน่อยแล้วจะเสียดายนะ

9. งดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

ของที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ เป็นความฟุ่มเฟือยที่ควรจะตัดทิ้งอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่ชอบช้อปปิ้งเป็นชีวิตจิตใจ

หันกลับมาดูสิว่า สิ่งที่คุณซื้อมาจำเป็นหรือเปล่า คุ้มค่าหรือไม่ หรือแค่เพียงสนองความต้องการของตัวเองเท่านั้น

แม้นั่นจะเป็นความสุขที่คุณได้รับจากการซื้อของที่ถูกใจ แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังไงการมีเงินเหลือใช้มากขึ้นก็ดีกว่าใช่ไหมล่ะ

10. อย่าอายกับการซื้อของลดราคา

ป้ายลดราคาคือสวรรค์ของใครหลายๆ คน แต่สำหรับบางคนก็ยังแอบรู้สึกอายที่ต้องไปซื้อของลดราคา

ทั้งๆ ที่จริงแล้ว เป็นวิธีการประหยัดเงินที่ดีอย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ว่าเห็นป้ายลดราคาแล้วจะพุ่งเข้าใส่อย่างเดียวนะ

ตั้งสติและซื้อเฉพาะของที่จำเป็นเท่านั้น ถ้าทำได้ก็ลดค่าใช้จ่ายได้เยอะเลยเชียวล่ะ

11. ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย

วิธีการประหยัดเงินสุดคลาสสิกที่ได้ผลเสมอ การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เป็นวิธีที่จะทำให้เรารู้ว่าในแต่ละเดือน เราได้รับเงินมาเท่าไร

และจ่ายเงินไปเท่าไร มีค่าใช้จ่ายใดที่เกินความจำเป็นบ้าง นอกจากจะช่วยเพลาๆ การใช้เงินของเราลงได้แล้ว ยังสามารถช่วยให้เราประมาณ

การใช้เงินของเราในเดือนถัดไปได้อีกด้วย ได้ประโยชน์หลายต่ออย่างนี้ ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมวิธีประหยัดเงินนี้จึงได้รับความนิยมที่สุด

12. เศษเหรียญมีค่าต้องใช้ให้คุ้ม

ยอมรับมาซะดีๆ เถอะว่าต้องมีหลายๆ คนไม่ชอบการพกเหรียญให้หนักกระเป๋า แต่อย่าลืมนะว่าเหรียญเหล่านั้น

ก็คือเงินเหมือนกัน ดังนั้น อย่าปล่อยเหรียญทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้ค่ะ เหรียญทุกเหรียญมีค่า ไม่ว่าจะเหรียญบาท

เหรียญสลึง ถ้าไม่อยากหนักกระเป๋า ก็แค่นำไปแลกที่ธนาคาร แค่นี้ก็ได้ธนบัตรออกมาใช้สบายใจแล้ว

ที่มา : m o n e y k a p o o k