การลาออก ถือเป็นเรื่องปกติของการทำงาน และเป็นสิทธิ์ที่พนักงานทุกคน
สามารถตัดสินใจได้ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งเล็กหรือใหญ่เพียงใดก็ตาม
มาลองดูกันว่า สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้พนักงานอยากจะลาออก มีอะไรกันบ้าง
1. มีปัญหาเรื่องคน
ปัญหายอดฮิตติดอันดับต้นๆ ของสาเหตุการลาออก ก็คือเรื่องคนนี่แหละ
ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาระหว่างเพื่อนร่วมงาน ความขัดแย้งกับเจ้านาย
การมีปากเสียงกับลูกน้อง หรือแม้กระทั่งทะเลาะกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง
บางทีอาจจะไม่ได้กระทบกระทั่งกันโดยตรง แต่เกิดจากการนินทาว่าร้าย
โยนความผิด หรือมีพฤติกรรมที่บั่นทอนสุขภาพจิตคนอื่น
ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่อยากร่วมงานได้เช่นกัน
2. มีปัญหาสุขภาพ
ปัญหาด้านสุขภาพ เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการลาออก
และสาเหตุนี้ ก็ดูจะสมเหตุสมผลที่สุด โดยเฉพาะหากมีใบรับรองแพทย์
หรือคำสั่งแพทย์อย่างเป็นทางการ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่บริษัทจะรั้งตัวไว้
ปัญหาสุขภาพบางเรื่อง ก็เป็นเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ โรคประจำตัว
หรือแม้แต่อุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน แต่ปัญหาสุขภาพบางอย่าง
ก็มีสาเหตุมาจากการทำงาน ตั้งแต่ขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดใหญ่
อย่างเช่น โรคเครียด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ประสาทตาอักเสบ
หรือบางทีก็อาจเกิดจากอุบัติเหตุขณะทำงานได้เหมือนกัน
3. งานเยอะจนเกินพอดี
ยุคนี้หลายบริษัทมักจะมีนโยบายการจ้างงาน ด้วยอัตราเงินเดือนที่น้อย
แต่ต้องจ้างให้คุ้มค่าที่สุด ด้วยการให้ทำงานมากมายหลายอย่างพร้อมกัน
หรือรวมงานจากหลายๆ ตำแหน่ง มาไว้ในตำแหน่งเดียว
งานที่มากจนเกินพิกัดนี้ อาจเกิดตั้งแต่ตอนตกลงจ้างงาน แต่พอทำจริงๆ แล้ว ทำไม่ไหว
หรืออาจเพิ่มเติมภายหลัง โดยไม่ได้มีการตกลงกันมาก่อน
ทำให้ความรับผิดชอบเยอะจนเกินไป หากพนักงานทำไม่ได้
รับไม่ไหว หรือรู้สึกโดนเอาเปรียบจนเกินไป ก็จะลาออกในที่สุด
4. ทำงานที่ไม่ชอบ ได้รับมอบหมายงานที่ไม่ถนัด
การได้ทำงานที่ชอบและถนัด จะทำให้พนักงานมีความสุขกับการทำงาน
และอยู่กับองค์กรได้นาน แต่การทนทำงานที่ไม่ชอบ หรือได้รับมอบหมายงานที่ไม่ถนัด
ก็อาจทำให้เกิดความอึดอัด หรือทำงานออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควร
บางครั้งสถานการณ์เหล่านี้ ไม่ใช่ความท้าทาย แต่เป็นผลเสียมากกว่า
5. อัตราจ้างต่ำเกินไป และต้องการปรับเงินเดือนขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เงินเดือนมีผลต่อการทำงานของพนักงานแทบทุกคน
และเงินเดือนก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่ง ที่บริษัทใช้จูงใจพนักงาน
อัตราเงินเดือน อาจหมายถึงความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
ความรับผิดชอบ หรือแม้แต่เรื่องของโบนัส ที่มักแปรผันตามความสามารถ
พนักงานหลายคน ย้ายบริษัทบ่อยมาก แต่นั่นไม่ใช่เพราะเขาทำงานแย่
ตรงกันข้าม เขาทำงานเก่งจนได้รับข้อเสนอเรื่องอัตราจ้างที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
จากบริษัทต่างๆ ที่ต้องการซื้อตัว และนั่นก็เป็นกลยุทธ์หนึ่ง ที่พนักงานในยุคนี้
ใช้การย้ายงาน เพื่อเพิ่มฐานเงินเดือนของตัวเอง ให้สูงขึ้นเรื่อยๆ
6. สวัสดิการไม่ดีพอ
องค์กรที่ดี มักจะดูแลใส่ใจเรื่อง สวัสดิการของพนักงาน ได้ดีตามไปด้วย
ซึ่งนี่ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้พนักงานอยู่ในองค์กรได้ยืนยาว
โดยเฉพาะสวัสดิการด้านสุขภาพ และการรักษาพยาบาล ที่พนักงานหลายคน
เลือกทำงานกับองค์กรที่ดูแลเรื่องนี้อย่างดี หรือแม้แต่สวัสดิการย่อยๆ
อย่าง ค่าเดินทาง ค่าล่วงเวลา หรือแม้แต่วันหยุด หากองค์กรเอาเปรียบพนักงาน
ก็ย่อมทำให้พนักงาน อยากลาออกไปเข้าบริษัทที่ให้สวัสดิการที่ดี และคุ้มค่ากว่า
7. ปัญหาโครงสร้างบริษัท
ไม่ใช่แค่เรื่องของคนเท่านั้น แต่ตัวองค์กรเองก็มีผลต่อการลาออกได้เหมือนกัน
บางบริษัทมีโครงสร้างที่ใหญ่มาก มีตำแหน่งที่เยอะมาก
มีทิศทางความก้าวหน้าในอาชีพการงานที่ชัดเจน ก็อาจเป็นแรงจูงใจที่ดี
แต่ในทางตรงกันข้าม บริษัทที่ไม่ได้มีการวางแผนผังงานที่ชัดเจน
ไม่มีแนวทางของแต่ละตำแหน่ง ก็อาจทำให้พนักงานมองไม่เห็นอนาคต
ไม่เห็นความก้าวหน้าของตัวเอง ไม่ตอบโจทย์ความสำเร็จในชีวิต
ก็อาจทำให้พนักงานลาออกไปหาองค์กรที่มั่นคงกว่า มีแนวโน้มก้าวหน้ากว่าก็เป็นได้
8. เจ้านายบริหารงานไม่เก่ง
ถึงแม้ว่าพนักงานคนนั้น จะได้ทำงานที่ชอบ ตำแหน่งที่ใช่ ตัวงานท้าทาย
เข้าทางไปเสียทุกเรื่อง แต่อาจกลับตกม้าต า ย ด้วยเรื่องง่ายๆ
ที่ดูจะเป็นเรื่องตลกร้าย ก็คือการได้เจ้านายที่ไม่เอาไหน บริหารงานไม่เก่ง
ยิ่งถ้ามีการประเมินผลงานเป็นทีม เป็นแผนก ทำดีแทบต า ย อาจได้ผลงานรวมที่แย่
เพราะเจ้านายห่วย และถ้าบริษัทไม่สามารถแก้ไขปัญหาในจุดนี้ได้
พนักงานที่มีความสามารถส่วนใหญ่ ก็มักตัดสินใจย้ายไปทำงานที่ใหม่ทันที
9. องค์กรไม่ได้ใช้ความสามารถของพนักงาน อย่างมีประสิทธิภาพ
คนที่ชอบทำงาน ทำงานดี ทำงานเก่ง และทุ่มเทให้การทำงาน
ไม่ว่าจะอยู่องค์กรใดก็ตาม พวกเขาย่อมคาดหวังว่าจะได้ทำงานที่เลือก
อย่างเต็มความสามารถ เพื่อเป็นการพัฒนาตัวเอง และก้าวหน้าในอาชีพการงาน
หากพนักงานไม่ได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ อาจทำให้เบื่อหน่าย
หรือรู้สึกว่าไม่ได้พัฒนาตัวเอง พนักงานในกลุ่มนี้ ก็มักจะไม่ทนอยู่
พวกเขามักจะหาองค์กรใหม่ ที่มีงานท้าทาย และสนุกยิ่งกว่า
10. องค์กรไม่เห็นศักยภาพ และไม่ส่งเสริมพนักงานให้ก้าวหน้า
บ่อยครั้งที่องค์กรได้พนักงานเก่งๆ มาอยู่ในมือ หรือพนักงานพัฒนาตัวเอง
จนมีศักยภาพขึ้นมา แต่บริษัทไม่เห็นตรงส่วนนี้ หรือเห็นแล้วเพิกเฉย ละเลย
ไม่สนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้า พนักงานก็คงไม่อยากร่วมงานกับองค์กรเช่นกัน
กรณีนี้อาจเกิดจากการไม่มอบหมายงานที่ท้าทาย ไม่เลื่อนตำแหน่ง
ไม่ปรับขึ้นเงินเดือน หรือแม้แต่ไม่พิจารณาโบนัสให้ตามความเหมาะสม
สาเหตุเหล่านี้ อาจทำให้พนักงานอยากเปลี่ยนองค์กร ที่เห็นศักยภาพของตนมากกว่า
11. ชีวิตเสียสมดุล
บางคนให้ความสำคัญกับเรื่อง Work Life Balance มากๆ
โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่รักการสร้างสมดุลชีวิตให้พอดี
ไม่ทำงานหนักจนทำให้สุขภาพแย่ ไม่บ้างานจนทำให้ชีวิตพัง
ไม่ขี้เกียจทำงานจนทำให้เลี้ยงชีพไม่รอด ไม่ทำงานที่ทำให้ชีวิตมีความทุกข์
หรือไม่รับงานที่ทำให้วิถีชีวิตของตัวเอง เปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง
อย่างเช่น งานที่ต้องเดินทางตลอด ทำให้ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว
งานที่ต้องทำในเวลากลางคืน ขัดกับวิถีชีวิตปกติทั่วไป
งานที่ทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อน หรือออกกำลังกาย
งานที่ต้องทำวันเสาร์อาทิตย์เพิ่มเติม หรือแม้แต่ออฟฟิศที่อยู่ไกล
จนทำให้มีปัญหาเรื่องการเดินทาง หากพนักงานสร้างสมดุลให้กับชีวิตตัวเองไม่ได้
วิถีชีวิตทุกอย่างจะกระทบไปหมด และนั่นก็เป็นสาเหตุให้ต้องยื่นใบลาออกได้เหมือนกัน
12. ย้ายถิ่นฐาน
อีกสาเหตุของการลาออกก็คือ การย้ายถิ่นฐานของพนักงาน
ตั้งแต่ย้ายบ้านไปอยู่อีกเขต ที่ทำให้เดินทางลำบากขึ้น
ครอบครัวต้องย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด หรือแม้แต่ต้องย้ายไปทำงานต่างประเทศ
ก็เป็นเหตุสำคัญ ที่อาจไม่เกี่ยวกับเรื่องงานโดยตรง แต่ทำให้พนักงานตัดสินใจลาออกได้
13. กลับไปช่วยธุรกิจของครอบครัว หรือเปิดกิจการเป็นของตัวเอง
อีกเหตุผลคลาสสิกทุกยุคทุกสมัย ก็คือ การถูกเรียกให้กลับไปช่วย
บริหารธุรกิจของครอบครัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ มักเป็นเหตุผลส่วนตัว
และอาจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับใครบางคน
หรือบางคนก็ต้องการลาออก เพื่อที่จะไปทำธุรกิจส่วนตัว
เริ่มต้นกิจการของตัวเอง โดยเฉพาะหลังช่วงได้รับโบนัสเงินก้อน
พนักงานอาจอยากเริ่มต้นธุรกิจใหม่ของตน หรือใช้ประสบการณ์
จากการทำงาน ไปต่อยอดธุรกิจที่ตนเห็นลู่ทางประสบความสำเร็จ
14. เบื่อหน่าย อิ่มตัว งานไม่ท้าทายอีกต่อไป
หากพนักงานรู้สึกเบื่อหน่าย สิ้นหวังในการทำงาน ประเภทที่ว่า
ตื่นลืมตามาทุกเช้า แล้วรู้สึกว่าไม่มีอะไรน่าสนใจ ไม่อยากไปทำงาน
เบื่อออฟฟิศ เบื่อความจำเจ เบื่อพฤติกรรมซ้ำๆ เดิมๆ
ก็เป็นเหตุให้อยากลาออกได้ หรือบางทีก็เป็นเหตุผลง่ายๆ
สุดแสนจะคลาสสิก แต่ทว่าดูเกือบจะไร้เหตุผลอย่าง “ถึงจุดอิ่มตัว”
ซึ่งพนักงานบางคน อาจทำงานนั้นมานาน จนเกิดความเบื่อหน่าย
การลองเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ
หรือแม้แต่การเปลี่ยนสายงานใหม่ไปเลย ก็อาจเป็นทางออกที่ดีเช่นกัน
15. เหตุผลที่ไร้เหตุผล
สุดท้ายแล้ว บางเหตุผลของการลาออก ก็เป็นเรื่องที่ไร้เหตุผลสิ้นดี
อย่างเช่น อกหักจากคนในออฟฟิศ ย้ายตามคนรักไปอีกบริษัท หนีหนี้
หรือแม้แต่อยากออกเดินทางท่องโลก เพื่อหาประสบการณ์ใหม่ๆ
สิ่งเหล่านี้บางทีก็ดูไร้เหตุผล แต่บางทีก็ดูเป็นเหตุผลสำคัญ
และแฝงไปด้วยความตั้งใจอันแรงกล้านั่นเอง
ขอขอบคุณ h r n o t e