หลายคนคงเคยทำงานกับหัวหน้า ที่มีลักษณะนิสัยแตกต่างกันไป
หัวหน้าบางคนเป็นที่รักของลูกน้อง จนใคร ๆ ก็อยากร่วมงานด้วย
ในขณะที่หัวหน้าบางคน กลับถูกลูกน้องมองในแง่ร้าย และตั้งกำแพงไม่อยากทำงานด้วย
ความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ลองมาสำรวจลักษณะนิสัยของหัวหน้าไปพร้อม ๆ กัน
1. จัดประชุมพร่ำเพรื่อ
การจัดประชุมทุกครั้ง ควรมีเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น เพื่อระดมสมอง เพื่อตัดสินใจเรื่องสำคัญ
ซึ่งก่อนประชุมทุกครั้ง หัวหน้าควรแจ้งให้ชัดเจนว่า จะคุยเรื่องอะไรบ้าง
นอกจากนี้ ควรให้โอกาสลูกน้องเลือกว่า จะเข้าหรือไม่เข้าประชุมใด เป็นต้น
2. ตำหนิพนักงานอย่างเดียว ไม่เคยชื่นชม
ทุกคนทำผิดพลาดกันได้ หัวหน้าที่ดีควรใช้ความผิดพลาดของลูกน้องเป็นบทเรียน
โดยมุ่งเป้าหมายไปที่วิธีการแก้ปัญหา ไม่ใช่ตำหนิให้ลูกน้องเสียกำลังใจ
โดยอาจจะเพิ่มช่องทางพัฒนาตนเองให้กับลูกน้อง หรือเปลี่ยนกลยุทธ์การทำงานต่าง ๆ
เพื่อไม่ให้ปัญหาเหล่านั้นเกิดขึ้นซ้ำอีก ซึ่งหัวหน้าก็ควรร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน และอย่าลืมให้กำลังใจลูกน้องเสมอ
3. โมโหง่าย ใช้อารมณ์กับพนักงาน
หากหัวหน้าใช้อารมณ์มาก ๆ หรือโมโหง่ายในเรื่องเล็กน้อย จะก่อให้เกิดผลเสีย
เพราะลูกน้องจะพยายามออกห่างจากหัวหน้า หากมีปัญหาอะไร ก็จะไม่กล้าปรึกษาหัวหน้าเช่นเดียวกัน
ในทางกลับกัน ถ้าหัวหน้าสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี ลูกน้องก็จะกล้าพูดคุยด้วย และทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขยิ่งขึ้น
4. พยายามควบคุมพนักงานทุกอย่าง
การบริหารจัดการลูกน้องแบบ Micro Management โดยพยายามออกคำสั่ง
และควบคุมลูกน้องตลอด ไม่ใช่เรื่องดี เพราะจะทำให้ลูกน้องไม่สามารถทำงานชิ้นนั้น ๆ ได้อย่างเต็มที่
ยิ่งไปกว่านั้น จะทำให้ลูกน้องขาดแรงบันดาลใจ ที่จะทำอะไรใหม่ ๆ อีกด้วย
ดังนั้น จงให้อิสระแก่พนักงาน และคอยเสนอคำแนะนำต่าง ๆ อย่างเป็นระยะก็เพียงพอแล้ว
5. เพิกเฉยต่อปัญหาของลูกน้อง
ถ้าลูกน้องมีคำถาม หรือต้องการให้หัวหน้าช่วยเหลือ หัวหน้าก็ไม่ควรเพิกเฉย แต่ควรจัดลำดับความสำคัญ
ว่าควรเข้าไปช่วยในเรื่องใดก่อน อย่างไรก็ตาม ถ้าหัวหน้าไม่สามารถช่วยได้ทันที
ก็ควรแจ้งให้ลูกน้องทราบ ว่าตนเองรับทราบถึงปัญหาแล้ว และจะช่วยได้เมื่อไหร่ เป็นต้น
6. ลังเล ไม่ตัดสินใจ จนลูกน้องทำงานต่อไม่ได้
เคยมีคนกล่าวไว้ว่า “การไม่ตัดสินใจ แย่กว่าการตัดสินใจผิด” ในฐานะหัวหน้า ที่ต้องตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในทุกวัน
ลูกน้องจะรอการตัดสินใจจากหัวหน้าเสมอ เพื่อให้งานดำเนินต่อไปได้ ซึ่งการตัดสินใจผิดพลาดก็ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป
ตราบเท่าที่หัวหน้าสามารถแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ลูกน้องจะรู้สึกประทับใจ ที่หัวหน้าลงมือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
7. เปลี่ยนใจไปมาจนลูกน้องตามไม่ทัน
หัวหน้าบางคนมีโปรเจคใหม่ ๆ มาให้ลูกน้องทำเสมอ และบางครั้งก็เปลี่ยนโปรเจคไปมา
จนลูกน้องตามไม่ทัน ทำให้ลูกน้องอาจจะเกิดคำถามว่า เป้าหมายจริง ๆ คืออะไรกันแน่
ดังนั้น หลังจากนี้หากมีโปรเจคใหม่ ๆ หัวหน้าก็ควรปล่อยให้ลูกน้องทำทีละโปรเจคอย่างเต็มที่
8. สั่งงานครั้งละมากเกินไป
หากหัวหน้าสั่งงานครั้งละมากเกินไป ลูกน้องก็จะรู้สึกหมดกำลังใจ และอาจจะมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง
ดังนั้น หัวหน้าจึงควรแบ่งการแจกจ่ายงาน เพื่อให้ลูกน้องจัดลำดับความสำคัญงานต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
9. สื่อสารกับลูกน้องไม่ชัดเจน
เมื่อสื่อสารกับลูกน้อง หัวหน้าควรบอกจุดมุ่งหมาย และรายละเอียดของงานต่าง ๆ
ให้ชัดเจน รวมถึงควรสนับสนุนให้ลูกน้องกล้าบอก เมื่อมีสิ่งที่หัวหน้าพูดหรือทำไม่ถูกต้อง
ที่มา E n t e r p r e n e u r