วันหนึ่ง ผมได้พาลูกไปร้านเครื่องเขียน ลูกของผมอยากได้กล่องดินสอ เขามองหน้าพ่อแล้วบอกว่า
“อยากได้แบบนี้ ๆ” ลูกของผมเลือกแบบหรูหรา แต่ผมให้ซื้อแค่แบบธรรมดาที่ใช้งานได้เหมือนกัน
ลูกทำหน้างอทันที ร้องอยากได้ไม้บรรทัด ก็อยากได้แบบสวยงาม แต่ผมก็ให้เลือกแบบแค่พื้นฐานใช้งานได้เหมือนกัน
เพียงเท่านั้น ลูกก็ทำหน้าหงิกหน้างอเข้าไปอีก ผมไม่ได้ว่าอะไร ตั้งใจว่าก่อนนอนคืนนี้ จะชี้แนะลูกด้วยการเล่านิทานเปรียบเปรยให้เข้าใจ
หลังจากได้เป็นพ่อคนแล้ว ผมตั้งใจจะเลี้ยงลูกไม่ให้เหมือนแบบที่ชาวเอเชียเขานิยมทำกัน ที่มักไม่ยอมให้ลูกลำบาก
ดูแลปกป้องแบบไข่ในหิน ประคบประหงมเกินพอดี หลายปีผ่านไป ผมรู้สึกว่าวิธีการเลี้ยงลูกของผมจะลำบากมากขึ้นทุกวัน
จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมได้อ่านจดหมายเปิดผนึกฉบับหนึ่ง ที่โพสต์ลงในบอร์ดของมหาวิทยาลัยนานกิง
จดหมายจากผู้ใช้นามว่า “พ่อผู้ขมขื่น” เขียนถึงลูกเขาที่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้น แต่ไม่ได้เปิดเผยชื่อลูก
จดหมายฉบับนี้มีคุณค่ามากในสายตาของผม ในจดหมายมีเนื้อหาดังนี้
ถึงลูกรักของพ่อ.. แม้ลูกจะทำให้พ่อทุกข์ใจเกินบรรยาย แต่ลูกก็ยังเป็นลูกของพ่ออยู่วันยังค่ำ
หลังจากที่ลูกสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว อาจเป็นเพียงคนเดียวของตระกูลเรา ในรอบหลายชั่วอายุคนที่ทำได้สำเร็จ
หลังจากนั้น พ่อชักไม่แน่ใจว่า ตกลงใครเป็นพ่อ และใครเป็นลูกกันแน่ พ่อช่วยแบกสัมภาระไปส่งลูกถึงหอพัก ช่วยกางมุ้ง ปูที่นอน
ซื้อกับข้าวกับปลา ต้องสอนแม้กระทั่งวิธีบีบยาสีฟันออกจากหลอด ทั้งหลายทั้งปวง ดูเหมือนว่ามันเป็นหน้าที่ที่พ่อสมควรต้องทำให้
ไม่ได้ยินคำว่าขอบคุณจากลูกสักคำ ตั้งแต่ต้นจนจบ รู้สึกด้วยซ้ำว่าเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ ที่พ่อผู้ด้อยความสามารถคนนี้
มีโอกาสได้รับใช้ลูกทูนหัว ที่บัดนี้ได้เป็นนักศึกษาผู้ทรงเกียรติไปแล้ว ปีแรกทั้งปี ที่บ้านได้รับจดหมายจากลูกสามฉบับ
ข้อความรวมกันแล้ว อาจยาวกว่าข้อความในโทรเลขหนึ่งฉบับสักหน่อย เนื้อหาย่นย่อ ลายมือหวัดอ่านยาก มีแต่คำว่า “เงิน” ที่ตั้งใจเขียนได้ชัดเจนที่สุด
พอขึ้นปีที่สอง จดหมายมาแบบถี่ ๆ ล้วนขอเงินเพิ่ม ลีลาการเร่งเร้าให้ส่งเงิน ประโยคที่เรียกร้องความเห็นใจ รับรู้ได้เลยว่า
หากเรียนจบแล้ว ลูกสามารถไปยึดอาชีพเป็นพวกเจ้าหน้าที่เร่งรัดหนี้สินได้เยี่ยมแน่นอน แต่สิ่งที่ทำให้พ่อเจ็บปวดที่สุดนั้น
มาจากการที่ลูกอาจหาญถึงขั้น ปลอมแปลงตัวเลขจำนวนเงิน ที่ต้องจ่ายค่าหน่วยกิตของมหาวิทยาลัย ไม่คิดว่าลูกจะใช้วิธีนี้
มาหลอกลวงเงินทองจากผู้เป็นพ่อแม่ที่ให้กำเนิด เลี้ยงดูรักใคร่ลูกมาตลอด เพียงเพื่ออยากได้เงินเพิ่ม ไปเที่ยวผับเที่ยวบาร์
และร้องคาราโอเกะ คิดถึงเรื่องนี้เมื่อไหร่ก็เจ็บปวดเมื่อนั้น นอนไม่หลับ จนกลายเป็นโรคซึมเศร้า สาเหตุก็มาจากลูก
คนที่พ่อเลี้ยงดูด้วยมือจนเติบใหญ่ แต่กลับกลายเป็นคนแปลกหน้าในร่างของนักศึกษา ขอภาวนาในใจว่า นอกจากวิชาความรู้ต่าง ๆ
ที่ลูกจะเรียนรู้จากสถาบันการศึกษาแล้ว ลูกจะกรุณาพัฒนาจิตใจให้เป็นคนซื่อสัตย์ และกตัญญูรู้คุณด้วยก็จะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด
หลังจากได้อ่านจดหมายฉบับนี้แล้ว ผมรู้สึกว่าผมยังต้องเดินหน้าทำตามนโยบาย
ในการดูแลลูกตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก แม้จะรู้ว่ามันค่อนข้างลำบากในสังคมของเรา
มีอยู่วันหนึ่ง เพื่อนสมัยเรียนที่ย้ายไปออสเตรเลียกลับมาเยี่ยมบ้าน มีโอกาสได้นั่งคุยกัน เขาเล่าว่า คนออสเตรเลีย
นอกจากเชื่อถือในพระเจ้าแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขาเชื่อมั่นก็คือ วิธีการเลี้ยงลูกแบบ “จะรวยแค่ไหน ก็ต้องเลี้ยงลูกแบบจน”
พวกเขาเชื่อว่า เด็กที่เติบโตขึ้นมาภายใต้การดูแลปกป้องมากไปของพ่อแม่ เมื่อโตแล้วจะไม่มีปัญญายืนด้วยลำแข้งตัวเอง
และก็จะไม่มีวันสำนึกบุญคุณคนอื่น แม้กระทั่งพ่อแม่ตนก็ตาม วันถัดมา เรามีโอกาสออกไปทำธุระด้วยกัน เจอฝนระหว่างทาง
เขาเห็นเด็กน้อยถูกห่อหุ้มด้วยผ้านวมอย่างหนา กลมไปหมดทั้งตัว จนดูคล้าย “ลูกบอลยัดนุ่น” เขาบอกว่า “เด็กควรจะใส่เสื้อผ้าน้อยกว่าผู้ใหญ่หน่อย”
เขาเล่าว่าในออสเตรเลีย แม้หน้าหนาวก็จะไม่เห็นเด็กที่ถูกห่อแบบ “ลูกบอลยัดนุ่น” เหมือนที่เห็น หรือในวันแดดจ้า
แม้เด็กจะนั่งอยู่ในรถเข็นเด็ก แต่คนเป็นแม่ก็จะทำใจแข็ง ไม่ยอมดึงที่บังแดดออกมากันแดดให้ลูก เด็กที่วิ่งเล่นแล้วหกล้มเอง
พ่อแม่ก็จะยืนดูเฉย ๆ ให้ลูกลุกขึ้นมาด้วยตัวเขาเอง ต่าง ๆ นานา ล้วนพยายามให้ลูกฝึกช่วยตัวเอง และอดทนให้มากที่สุด
ธรรมเนียมของครอบครัวชาวเอเชียอย่างพวกเรา หลักการที่ยึดติดมานานกับนโยบายที่ว่า “จะยากจนแค่ไหน ก็ไม่ยอมให้ลูกต้องลำบาก”
สงสัยจะถึงเวลาต้องทบทวนกันใหม่ได้แล้ว การเลี้ยงลูกของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ตอนลูกยังเล็กและอ่อนแอ
บางชนิดอมลูกไว้ในปาก บางชนิดซุกลูกไว้ใต้ปีก กลัวลูก ๆ จะไม่ปลอดภัย แต่พอลูกเริ่มโตได้ที่แล้ว พวกมันจะไล่ลูกออกไปอย่างไร้เยื่อใย
ให้ลูกไปเผชิญกับโลกภายนอกเอง ไปฝึกวิทยายุทธเอง ไปเผชิญปัญหาและมรสุมทุกรูปแบบ แล้วชีวิตจะไม่เจอทางตัน
เห็นหรือยังว่า แม้แต่สัตว์ทั้งหลายก็ยังรู้ถึงหลักการที่ว่า “โอ๋ลูกจนไม่ลืมหูลืมตา คือการฆ่ าลูกแบบเ ลื อ ดเย็น”
จะรวยแค่ไหน ก็ต้องเลี้ยงลูกแบบจน ด้วยวิธีนี้ จะบังคับให้ลูก ๆ ทั้งหลาย รู้จักยืนอยู่บนลำแข้งตัวเอง รู้จักสำนึก
และตอบแทนบุญคุณคนเป็นพ่อเป็นแม่ สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรลืม ถึงแม้คุณจะเป็นห่วง จะปกป้อง หรือโอ๋ลูกขนาดไหนก็ตาม
คุณคงไม่มีปัญญาตามไปวุ่นวาย หรือดูแลพวกเขา ในช่วงครึ่งหลังของชีวิตเขา เพราะตอนนั้น คงถึงเวลาที่คุณต้องหลับยาวไปแล้ว
ที่มา ขจรศักดิ์