เลี้ยงลูกอย่างไร ให้มีความสุขและฉลาดทั้งทางด้านสติปัญญา (IQ) และทางด้านอารมณ์ (EQ)
แถมยังมีความสุข และเติบโตขึ้นมามีเหตุผล วันนี้มี 14 เคล็ดลับที่สำคัญ และผ่านการศึกษามาแล้ว
ว่าใช้ได้ผลดีกับเด็กทั่วโลกมาฝากคุณพ่อคุณแม่กัน จะมีเคล็ดลับใดบ้าง มาดูกันเลย
1. ให้ลูกกินนมแม่
ผลการวิจัยจาก American Academy of Pediatrics (AAP) และ American College of Obstetricians and Gynecologists
เผยว่า การให้ลูกกินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี นับเป็นหนึ่งในเคล็ดลับในการพัฒนา IQ และ EQ เด็กอย่างเป็นธรรมชาติ
และมีประสิทธิภาพ คุณค่าทางโภชนาการของน้ำนมแม่ ช่วยพัฒนาระบบทางประสาทของเด็ก และการใกล้ชิดระหว่างแม่กับลูก
ขณะให้นม ยังช่วยให้เด็กรู้สึกอบอุ่น และรับรู้ถึงความรักความเอาใจใส่จากแม่ ช่วยเสริมสร้างทักษะทางอารมณ์ให้แก่ลูก
2. ฝึกให้ลูกรู้สึกขอบคุณ (Gratitude)
ความรู้สึกสำนึกขอบคุณ (Gratitude) หมายถึง ความรู้สึกขอบคุณ และสุขใจเมื่อได้รับสิ่งต่าง ๆ หรือการมองเห็น
และซาบซึ้งกับแง่มุมบางอย่างในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็ก ๆ หรือสิ่งใหญ่ ๆ งานวิจัยพบว่า การหมั่นให้ลูกรู้สึกขอบคุณอยู่เสมอ
สามารถช่วยให้ลูกมองโลกในแง่บวกมากขึ้น มีความกระตือรือร้น และรู้สึกมีความสุข โดยการฝึกความรู้สึกขอบคุณสามารถทำได้ง่าย ๆ
เช่น ให้ลูกลองเขียนลงในสมุดบันทึก ให้ลูกลองเอ่ยออกมา สักสองหรือสามสิ่งที่เขารู้สึกขอบคุณประจำวัน ก่อนนอนหรือก่อนกินมื้อเย็น เป็นต้น
3. ถามตอบกับลูก
เด็กขี้สงสัย และถามพ่อแม่บ่อย ๆ นั้นเป็นสัญญาณที่ดี เพราะแสดงว่าลูกเป็นคนช่างสังเกตและใฝ่รู้ หากลูกถามคำถามบ่อย ๆ
ขอให้คุณอย่าเบื่อหรือรำคาญ เพราะการถามตอบของเด็ก จะช่วยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ที่สำคัญ อย่าลืมถามลูกกลับ
เช่น รู้ไหมสิ่งนี้คืออะไร ถ้าลูกเจอสถานการณ์แบบนี้จะทำอย่างไร เพื่อกระตุ้นให้ลูกได้คิดเพิ่มเติมค่ะ
4. เสริมสร้างกิจกรรมทางความทรงจำ
กิจกรรมทางความทรงจำ (Memories activities) ช่วยพัฒนา ไม่ใช่แค่ทักษะในการจำของลูก แต่ยังรวมทักษะในการใช้เหตุผล
และภาษา ตลอดจนการปะติดปะต่อเหตุการณ์ และความเข้าใจสถานการณ์เฉพาะหน้าต่าง ๆ การให้ลูกเล่นกิจกรรมทางความทรงจำ
เช่น จิกซอว์ ครอสเวิร์ด ซูโดกุ จึงนับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้าง IQ และ EQ ให้ลูกได้อย่างสนุกสนาน และมีประสิทธิภาพ
5. คาดหวังความพยายาม ไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบ
การคาดหวังความพยายาม จะช่วยให้ลูกสนุกสนานกับการเรียน และกิจกรรมที่เขากำลังทำ ได้ดีกว่าการคาดหวังความสมบูรณ์แบบ
งานวิจัยพบว่า พ่อแม่ที่มักคาดหวังความสมบูรณ์แบบจากลูก มักทำให้ลูกเสี่ยงมีภาวะซึมเศร้า และวิตกกังวลในตอนโตโดยไม่รู้ตัว
การเลี้ยงลูกอยู่บนฐานของความพยายาม จึงช่วยให้ลูกเห็นถึงคุณค่าในตัวเอง และสิ่งที่เขาทำได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล และมีความสุขมากกว่า
6. เรียนรู้ที่จะมีความสุข
นอกเหนือจากการพัฒนาผ่านทางทักษะและกิจกรรมต่าง ๆ การเรียนรู้ที่จะมีความสุขในวัยเด็ก ยังขึ้นอยู่กับอารมณ์
และพฤติกรรมของพ่อแม่ด้วย การที่พ่อแม่อารมณ์เสียให้ลูกเห็นบ่อย ๆ ก็อาจบ่มเพาะความวิตก และปมในใจให้ลูกเช่นกัน
ดังนั้น นอกเหนือจากการฝึกให้ลูกพัฒนาทักษะทางด้านอารมณ์ต่าง ๆ การที่พ่อแม่มีความสุข
และอารมณ์ดีก่อน แล้วเผื่อแผ่รังสีแห่งความสุขดังกล่าวต่อให้ลูก ยังนับเป็นอีกวิธีเลี้ยงลูกให้มีความสุขเช่นกัน
7. ให้ความรักความอบอุ่นกับลูกเสมอ
เด็กที่เติบโตมาด้วยความรักและความใส่ใจจากพ่อแม่เสมอ จะมีพัฒนาการที่ดี ทั้งด้านสติปัญญาและอารมณ์
8. อ่านหนังสือกับลูก
แทนที่จะเพียงแค่กระตุ้นให้ลูกอ่านหนังสือ หรืออ่านหนังสือให้ลูกฟัง ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า การอ่านพร้อมกันกับลูก และพยายามอธิบายจุดที่สำคัญ
ที่น่าสนใจให้ลูกฟัง จะช่วยเพิ่มทั้งความเข้าใจ และการพัฒนาทางสติปัญญา และยังช่วยเสริมสร้างความรู้สึกอบอุ่น
และความรักระหว่างกันและกัน ถือเป็นวิธีการเลี้ยงลูกให้มีเหตุผล ฉลาด ตลอดจนรู้สึกถึงความรักจากพ่อแม่อีกด้วย
9. พาลูกไปเล่นกีฬา
การเล่นกีฬา นอกจากทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยฝึกความเร็วในการคิดวิเคราะห์ และกระบวนคิดอย่างมีเหตุผลของลูก
10. กินมื้อค่ำด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตา
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่ากิจกรรมง่าย ๆ อย่างการกินมื้อค่ำด้วยกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ระหว่างพ่อแม่ลูกหรือภายในครอบครัว
คืออีกหนึ่งกิจกรรมที่งานวิจัยพบว่า เด็กส่วนใหญ่ชื่นชอบ สามารถช่วยบ่มเพาะความสุข และการเติบโตทางอารมณ์ของลูก
ได้อย่างอบอุ่นและเป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะการกินมื้อค่ำที่ครอบครัวสนใจแลกเปลี่ยนเหตุการณ์ประจำวัน
ของกันและกัน ถามสารทุกข์สุกดิบ และแสดงความรักความห่วงใยต่อกัน
11. ให้กำลังใจลูก
การกระตุ้นให้ลูกฉลาด ไม่ใช่การให้เขาลงมือทำเพียงครั้งเดียว แล้วจะประสบความสำเร็จ แต่เกิดจาก
การทำซ้ำบ่อย ๆ อย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นทักษะ กระบวนการคิด เกิดเป็นการเรียนรู้ และความฉลาด
ดังนั้น เราควรพูดให้กำลังใจลูก เพื่อให้ลูกมีกำลังใจ และรู้สึกดีที่จะเรียนรู้สิ่งนั้นต่อไป
12. ดูแลอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ
อาหารแต่ละมื้อของลูก ควรเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ มีสารอาหารเหมาะสมกับ
เด็กวัยเจริญเติบโต เช่น เมนูปลาทะเลต่าง ๆ ที่มี DHA ช่วยบำรุงสมอง
13. ปล่อยให้ลูกเล่นกับเพื่อน ๆ
ปล่อยให้ลูกได้ใช้ชีวิตโดยไม่มีพ่อแม่คอยดูแล จะช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ในการเข้าสังคม
แม้ว่าบางทีอาจะมีการทะเลาะ หรือโดนเพื่องแกล้งบ้าง แต่นี่คือวิธีการที่ดีที่ลูกจะได้แก้ปัญหาด้วยตัวเอง
14. เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก
สิ่งที่สำคัญที่สุด และง่ายที่สุด ก็คือ คุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก เพราะเด็กจะเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องสอนเลย
ไม่ว่าจะเป็นนิสัยใด ๆ ถ้าแม่ชอบอ่านหนังสือให้ลูกเห็นบ่อย ๆ ลูกก็จะซึมซับนิสัยรักการอ่านไปโดยปริยาย
ที่มา s t a r f i s h l a b z