1. สอนเขาว่า.. เขาไม่สามารถได้ทุกอย่างที่เขาต้องการเสมอไป
การให้สิ่งใดก็ตามที่ลูกเราต้องการ มันคือการสปอยเด็ก อันนี้ใคร ๆ ก็รู้นะครับ
แต่คนเป็นพ่อเป็นแม่ บางทีการขัดใจลูก มันเป็นเรื่องลำบากเหลือเกิน(ก็เรารักลูกนี่นา)
แต่ลองมองในมุมนี้สิ เราเกิดมาจนเป็นพ่อเป็นแม่คน เราได้ทุกอย่างที่ใจหวังหรือเปล่า?
คำตอบคือ “ไม่” ดังนั้น การฝึกให้เขารู้จักรอคอย รู้จักผิดหวัง ได้อะไรยากขึ้นอีกหน่อย
จะเป็นการทำให้เขา สามารถอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงได้ดีขึ้นแน่นอน
2. สอนเขาว่า.. อยากได้อะไร จงอดทนและเก็บออมด้วยตัวเอง
การยังไม่ได้สิ่งที่เขาต้องการในวันนี้ คือสิ่งที่เขาเรียนรู้ข้อที่ 1 แต่สำคัญกว่าก็คือ
การทำอย่างไร เพื่อให้ได้สิ่งที่เขาต้องการในอนาคต นั่นก็คือ “การออม”
การฝึกให้เขารู้จักออมในวัยที่สมควร เป็นการฝึกเรื่องเงินที่ดีที่สุด ที่ใช้กันมาทุกยุคทุกสมัย
เพราะเขาจะรู้ว่า เขาสามารถจ่ายกับสิ่งไหนที่เขาต้องการ
หรือต้องเก็บเพิ่มอีกเท่าไหร่ กว่าจะได้ของที่ชิ้นใหญ่กว่าเดิม
3. สอนเขาว่า.. การขอ เท่ากับ ยืม เท่ากับ การเป็นหนี้ ไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ
ครอบครัวสมัยใหม่นั้น เวลาออกไปเที่ยว ไปทานข้าวนอกบ้าน
ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยใช้เงินสดกันหรอกครับ รูดบัตรเครดิตเอาง่ายกว่า
แต่ถ้าเราไม่อธิบายลูกรักของเรา พอเขาเห็นบัตรเครดิต เขาจะคิดว่านั่นคือเงิน
เช่นเดียวกับไอ้ที่อยู่ในกระปุกออมสิน อย่าทำให้เขาคิดอย่างนั้นครับ
บอกเขาซะ ว่ามันคือหนี้ มันคือการยืมเงินในอนาคตมาใช้
ในบัตรนั้น มันไม่ได้มีเงินของคุณอยู่เลย ทางที่ดีกว่านั้นคือ
ไม่ต้องใช้บัตรเครดิตให้เขาเห็น หลีกเลี่ยงการตอบคำถามแบบฉลาด ๆ ของเด็ก
ที่อาจจะเกิดขึ้นว่า “ถ้ามันไม่มีเงินในนั้น งั้นป๊า/ม๊า ใช้มันทำไม”
4. สอนเขาว่า.. เลือกเอาระหว่าง ทำงานให้หนัก หรือมีความคิดสร้างสรรค์
เพราะสองอย่างนี้ จะทำเงินให้กับเขาในอนาคต อีกเรื่องที่ต้องห้ามลืมสอนก็คือ
คุณค่าของการทำงานอย่างหนัก และการใช้ความคิดอย่างสร้างสรรค์
แล้วเด็กจะโยงได้เองว่า ถ้าจะมีความคิดสร้างสรรค์เยอะ ๆ ก็ต้องเรียนเก่ง ๆ
ถ้าคุณเห็นแววว่า เขาอาจไม่ใช่อัจฉริยะขนาดนั้น ก็ต้องฝึกให้เขาหมั่นขยัน
ลองให้เขาทำงานซักอย่างให้คุณ แล้วให้ค่าตอบแทนเขาดู ให้รู้จักกระบวนการของการได้เงิน
(มากกว่าแค่ค่าขนม) นี่คือการเรียน เพื่อให้รู้ว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง
เขาต้อง “ทำงานแลกเงิน” แต่อย่าให้งานและเงินที่มันง่ายจนเกินไป เช่น ฝึกเขาล้างจาน
พับผ้าปูที่นอน อะไรแบบนี้นะครับ ไม่งั้นจะติดนิสัยเคยตัว เกี่ยงงานหนัก ยิ่งไปกันใหญ่
5. สอนเขาว่า.. เราไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินให้กับทุกสิ่งเสมอไป
สิ่งที่สำคัญที่สุด หลังจากสอนเขาเรื่องความสำคัญของการหาเงิน ออมเงิน
ก็คือการทำให้เขาเห็นว่า “เงินไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ต้องการมากที่สุด”
ในโลกนี้ยังมีอีกหลายสิ่งที่ตัวเขาต้องการ และเงินไม่สามารถซื้อมันมาได้
อย่างน้อย ๆ ก็คือ “เวลา” ที่จะใช้กับคนที่เขารัก และอีกอย่างที่เงินซื้อไม่ได้
ก็คือ “ความรัก” หากเขาอยากได้จากคนอื่น
เขาต้องลงทุน ด้วยการให้ความรักกับคนอื่นไปก่อน
6. สอนเขาว่า.. เงินทองของนอกกาย มีอีกหลายคนต้องการมากกว่าเรา
ชี้ให้เขาเห็นคนที่ด้อยโอกาสกว่าในสังคม สอนให้เขาหยิบยื่นโอกาสแก่คนเหล่านั้น
ให้เงินออมของเขาทำงานผ่านการกุศล หรือการบริจาค ทำบุญ ทำทาน เขาจะเห็นว่า
การสร้างความสุขให้คนอื่น ด้วยการสละเงิน บริจาคทรัพย์
ก็สามารถสร้างความสุขให้กับตัวเขาเองได้อีกทาง
ไม่จำเป็นต้องนำเงินไปซื้อในสิ่งที่เขาต้องการเสมอไป
เพื่อให้เขาเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่เงิน
นี่คือ 6 บทเรียน ที่พ่อแม่ยุคใหม่ควรสอนลูกเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ รู้ครับว่าต้องใช้เวลา
แต่งานสร้างคน มันคืองานสร้างชาติเชียวนะ รีบไม่ได้ เร่งไม่ได้ ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ สอนกันไป
ที่มา Mr. Messenger