เป็นธรรมดา เมื่อเราต้องอยู่ท่ามกลางคนหมู่มากที่รวมตัวกันเป็นสังคม อันประกอบด้วยคนหลากหลายที่มาที่ไป
โดยเฉพาะในการทำงานบางครั้ง อาจมีเรื่องให้ต้องกระทบกระทั่งกับเพื่อนร่วมงานกันบ้าง ด้วยภาวะเครียด
จากความกดดันในการทำผลงาน อาจจะเป็นเพราะนิสัยส่วนตัวของแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป
หรือที่ในยุคนี้เรียกว่าเคมีไม่ตรงกัน แต่อย่าลืมว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม และเราทำงานคนเดียวไม่ได้
ต้องอาศัยทีมงาน เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน หรือแผนกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนให้งานดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
คุณเคยรู้สึกไม่ชอบเพื่อนร่วมงานไหม? ถ้าเคย..มันมีเหตุผลอะไรที่ทำให้เราไม่ชอบพวกเขาเหล่านั้นกัน
เราได้รวมเอาพฤติกรรม ที่อาจจะทำให้เพื่อนร่วมงานไม่ชอบตัวเรา ให้ได้ลองเช็คลิสต์ตัวเองดู
ว่าเข้าข่ายบุคคลที่ไม่มีใครอยากร่วมงานด้วยอยู่หรือเปล่า แล้วถ้ามีเราจะพอแก้ไขอย่างไรได้บ้าง..ไปดูกัน
1. คิดแต่ที่จะทำให้ตัวเองโดดเด่น
ไม่ว่าเราหรือใคร ก็อยากโดดเด่นเป็นที่จับตามอง โดยเฉพาะในเรื่องหน้าที่การงาน การทำตัวเองให้โดดเด่นเฉิดฉายเป็นสิ่งที่ดี
เพราะนอกจากจะได้ความภูมิใจแล้ว ก็ยังส่งผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพด้วย แต่การที่เราพยายามมากเกินไป
ถึงขั้นขโมยสปอตไลท์จากคนอื่น เอาความดีความชอบมาเป็นของตนเองคนเดียว ย่อมไม่มีใครเห็นดีเห็นงามด้วยแน่นอน
แก้ไขอย่างไร
หากผลงานชิ้นนั้นเป็นสิ่งที่เราทำ การที่เราจะนำความดีความชอบนั้นมาเป็นของเราย่อมไม่ใช่สิ่งผิด
แต่หากผลงานชิ้นนั้นมีการร่วมงานกับเพื่อนพนักงานคนอื่น หรืออาจจะเป็นลูกน้องของตัวเราเอง
การให้เครดิตกับคนเหล่านี้ด้วยเป็นสิ่งที่ควรทำ อย่างที่เราเองต้องการความโดดเด่น
ผู้อื่นก็คงต้องการไม่ต่างจากเรา ซึ่งการให้เครดิตผู้อื่น เป็นการแสดงออกให้เพื่อนร่วมงานเห็นว่า
เราให้ความสำคัญกับทีม เราให้การยอมรับในผลงานและฝีมือของพวกเขา
สร้างให้พวกเขาเองเกิดความภาคภูมิใจ และเป็นการซื้อใจเพื่อนร่วมงานในอีกทางหนึ่งเช่นเดียวกัน
2. ไม่เคยมองเห็นความผิดพลาดของตัวเอง
เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่อยากจะปกป้องตัวเองจากความรู้สึกผิดในทุกๆ เรื่อง เรื่องงานเองก็ไม่มีข้อยกเว้น
ผิดคนอื่นมองเห็นเท่าภูเขา ผิดของเรามองเห็นเท่าเส้นผม คำกล่าวนี้จึงไม่เกินความเป็นจริงเลย
เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในที่ทำงาน เรากลับไม่พิจารณาตนเองก่อน หรือไม่เห็นความผิดพลาดของตัวเอง
กลับโยนให้ทุกอย่างเป็นความผิดของคนอื่นหมด ลองพิจารณาตัวเองว่าเราเป็นหนึ่งในคนแบบนี้หรือเปล่า
แก้ไขอย่างไร
ไม่ต้องอายที่จะยอมรับความผิดพลาดของตัวเองอย่างเต็มภาคภูมิ คนเราย่อมมีการผิดพลาดกันได้เป็นเรื่องธรรมดา
การยอมรับผิดและพร้อมที่จะหาทางแก้ไขปัญหา ไม่โทษผู้อื่น ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เพื่อนร่วมงานชอบเรามากขึ้น
แต่ยังเพิ่มความน่าเชื่อถือ และความซื่อตรงให้กับตัวเราเองได้อีกด้วย แต่แน่นอนว่าเราเอง
ก็ต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น และพยายามพัฒนาตัวเอง เพื่อไม่ให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นอีก
3. วิจารณ์ทุกอย่าง
การที่เราแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เป็นการกระทำที่ไม่ได้ผิดอะไร แต่การวิจารณ์หรือตำหนิไปทุกอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นงาน โปรเจกต์ต่างๆ หรือแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน นอกจากจะสร้างความรำคาญ
ให้กับเพื่อนร่วมงานแล้ว ยังอาจเกิดความเข้าใจผิดกันระหว่างทีมได้อีกด้วย
แก้ไขอย่างไร
พยายามบ่นให้น้อยลง เมื่อเกิดปัญหาต่างๆ เราควรจะมองหาวิธีแก้ปัญหามากกว่าที่จะบ่นเกี่ยวกับมันไปเรื่อยๆ
โดยไม่พยายามแก้ไขอะไร และถ้าหากว่าเราไม่มีความสุขกับสิ่งต่างๆ ที่เป็นไปในองค์กร
หรือในตำแหน่งหน้าที่ของเรา สิ่งที่เราควรทำคือพยายามหาทางแก้ไขสิ่งนั้น
4. ไม่เข้าสังคม
แน่นอนว่าเมื่อเราตัดสินใจที่จะเข้ามาทำงานในองค์กร เราต้องได้พบเจอและทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมแผนก
หรือแม้กระทั่งต่างแผนก การเรียนรู้ที่จะเข้าสังคมเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำงานยุคปัจจุบัน
เนื่องจากไม่ว่าเราจะทำงานอยู่ในตำแหน่งไหน เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการทำงานเป็นทีมได้
หากเราเป็นคนที่ไม่เข้าสังคม คิดแต่จะอยู่กับตัวเอง ไม่ให้ความร่วมมือกับส่วนรวมเท่าไร
คงเป็นการยากที่เพื่อนร่วมงานของเรา จะประทับใจในตัวเราได้
แก้ไขอย่างไร
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ไม่ว่าเราจะมีโลกส่วนตัวขนาดไหน การสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
ลองพยายามตอบตกลง เวลามีใครชวนไปกินข้าวกลางวัน หรือนั่งพูดคุยหลังเลิกงาน
สิ่งเล็กๆ เหล่านี้คือจุดเริ่มต้นที่ดีไม่น้อย ในการเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น
5. ไม่เคารพพื้นที่หรือเวลาส่วนตัวของคนอื่น
การทำงานอย่างมืออาชีพได้นั้น เราต้องรู้จักพื้นที่ส่วนตัว และเวลาส่วนตัวของเพื่อนร่วมองค์กร
รวมไปถึงหัวหน้าด้วย ถึงแม้ว่าตัวเราเองอาจไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่โตอะไร
แต่การก้าวก่ายพื้นที่ส่วนตัว หรือเวลาส่วนตัวของเพื่อนร่วมงาน เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง
เพราะนอกจากจะรบกวนเพื่อนร่วมงานแล้ว เรายังแสดงให้คนอื่นเห็นถึงความไม่มืออาชีพของเราเองด้วย
แก้ไขอย่างไร
เรียนรู้ที่จะเคารพพื้นที่ และเวลาส่วนตัวของเพื่อนร่วมงาน อย่าคาดหวังว่าคนอื่นๆ
จะทิ้งทุกอย่างเพื่อมาให้ความช่วยเหลือเราได้ตลอดเวลา เราควรจะเอาใจเขามาใส่ใจเรา
และรู้จักกาลเทศะมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปพูดคุย ขอความช่วยเหลือ รวมไปถึงเรื่องเล็กๆ
อย่างการส่งเสียงดังในที่ทำงาน นั่นก็ถือเป็นการไม่เคารพพื้นที่ส่วนตัวของคนอื่นเช่นกัน
6. ไม่เคยหยุดนินทา
การนินทาไม่เคยเป็นเรื่องดี ไม่ว่าจะเป็นการนินทาเรื่องอะไร หรือนินทาใคร นอกจากจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีแล้ว
มันยังทำให้ความน่าเชื่อถือของตัวเราลดลงไปมาก อีกทั้งเพื่อนร่วมงานก็จะไม่ให้ความไว้วางใจ
ที่จะพูดคุยหรือปรึกษาอะไรอีกด้วย การนินทาอาจเป็นเรื่องที่สนุกสนาน ที่เราอาจจะทำได้ในบางเวลา
แต่มันสามารถทำให้เพื่อนร่วมงานของเรา ไม่ชอบเราได้ง่ายๆ เช่นเดียวกัน
แก้ไขอย่างไร
เลิกนินทาคนอื่นเถอะถ้าสามารถทำได้ หรือถ้าหากเราไม่ได้เป็นคนที่นินทาคนอื่นอยู่แล้ว
จะยิ่งดีขึ้นไปอีก ถ้าเราสามารถพาตัวเอง ออกจากกลุ่มนินทาประจำออฟฟิศ
วิธีง่ายๆ คือการเปลี่ยนบทสนทนาในกลุ่ม หรือขอตัวออกมาจากวงสนทนานั้น
ที่มา : J o b T h a i