การมีรายได้สูงๆ ไม่ได้ทำให้เรารวยขึ้นได้ แต่ความร่ำรวยจะเกิดก็ต่อเมื่อเราสามารถบริหารการใช้เงินให้เหลือเก็บนั่นต่างหาก
ดังนั้น หากตอนนี้คุณรู้สึกว่าเก็บเงินไม่ค่อยอยู่เลย ลองมาเช็กว่าคุณมี 8 สัญญาณการใช้เงินแบบผิดๆ ที่ทำให้ไม่เหลือเงินเก็บอยู่กี่ข้อกัน
1. รายได้เพิ่มขึ้น แต่เงินเก็บไม่เพิ่มตาม
หลายคนคิดไว้แล้วว่า เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะเก็บเงินให้มากขึ้นด้วย ทว่าเอาเข้าจริงๆ กลับยังคงใช้เงินแบบเดิมๆ
เก็บเงินได้บ้าง พลาดบ้าง แล้วแต่กิเลสในแต่ละเดือนของตัวเอง รู้ตัวอีกทีเงินเก็บที่คิดว่าจะมีเยอะก็กลับไม่เท่าที่หวังไว้
วิธีแก้ปัญหา อย่ารอให้มีรายได้เพิ่มขึ้นถึงเริ่มเก็บเงิน โดยเฉพาะหากรู้ตัวว่าตัวเองเป็นคนใช้เงินเก่ง
ควรตัดใจหักเงินส่วนหนึ่งเอาไว้ออมเลย แล้วค่อยมาบริหารจัดการเงินที่เหลือไว้ใช้จ่ายภายหลัง
2. มีเงินไม่พอจะจ่ายหนี้
เป็นอย่างนี้แทบทุกเดือน นอกจากจะมีชีวิตแบบสิ้นเดือนสะเทือนใจแล้ว พอมีรายได้เข้ามาคุณมักจะพบว่า
ไม่สามารถจ่ายบิลค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด หรือจ่ายได้แค่เพียงขั้นต่ำ และนี่ก็เป็นปัญหาหนักอกประจำเดือนมายาวนาน
ซึ่งก็เห็นได้ชัดเลยนะคะว่า คุณไม่มีเงินสำรองเพียงพอจะจัดการรายจ่ายของตัวเองให้ลงตัวได้
วิธีแก้ปัญหา บอกตรงๆ ว่ามีตัวเลือกอยู่แค่ 2 ทาง คือ หาเงินให้ได้มากขึ้น หรือใช้จ่ายให้น้อยลง
ซึ่งอาจหารายได้เสริมทำในช่วงเลิกงานหรือวันหยุด ไม่ก็พยายามรัดเข็มขัดตัวเอง
ตัดรายจ่ายฟุ่มเฟือยออกไป หรือง่ายๆ เริ่มต้นจากจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย ประจำวันก่อนก็ได้
3. ไม่เคยเตรียมพร้อมกับรายจ่ายก้อนใหญ่
โดยเฉพาะคนที่แต่งงานแล้ว อย่าลืมว่าในอนาคตคุณอาจมีสมาชิกครอบครัวเพิ่มขึ้นอีกนะ แล้วการเลี้ยงดูเด็กสักคน
ก็ต้องใช้ค่าใช้จ่ายไม่เบาเลยล่ะ หรือแม้แต่คนโสดก็ต้องเตรียมตัวไว้เหมือนกัน ปัญหาสุขภาพก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรวางใจ เจ็บป่วยขึ้นมาเมื่อไร
ค่าใช้จ่ายก็ไม่น้อยเลยทีเดียว วิธีแก้ปัญหา ยังคงต้องบอกให้แบ่งเงินบางส่วนมาเก็บออมเอาไว้ก่อน ถึงแม้จะเป็นเงินก้อนที่ดูไม่น่าจะได้ใช้เร็วๆ นี้
แต่การออมเงินไว้ก็ยังทำให้อุ่นใจได้มากจริงไหมคะ หรือใครอยากออมเงินไปพร้อมกับทำหลักประกันชีวิตก็ได้ เจ็บป่วยขึ้นมาก็ยังมีค่ารักษาพร้อมจ่าย
4. ไม่เคยนึกถึงเรื่องเก็บเงินวัยเกษียณ
ในตอนนี้เราอาจอายุยังน้อย มีเวลาหาเงินได้อีกหลายปีก็จริง แต่ถ้าเรามัวผัดวันประกันพรุ่ง แล้วเมื่อไรเราจะมีเงินเก็บ
ในส่วนที่กันไว้ใช้ช่วงวัยเกษียณกันล่ะ วิธีแก้ปัญหา เริ่มออมเงินส่วนนั้นไว้ตั้งแต่ตอนนี้ อย่างน้อยหัก
10% ของรายได้เอามาออมเงินไว้ใช้ตอนเกษียณก็ได้ แค่นี้อนาคตก็เป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวลใจอีกต่อไป
5. จ่ายหนักกับค่าที่พักอาศัย
อสังหาริมทรัพย์ถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินเตือนว่า ถ้าคุณมีรายจ่ายค่าบ้าน ค่าคอนโดหรือหอพัก
เกิน 40% ของรายได้ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเหลือเงินเก็บน้อย วิธีแก้ปัญหา ถ้ามีความสามารถหารายได้เพิ่มในแต่ละเดือนได้
ก็อย่ามัวรีรอค่ะ จัดไปให้สมดุลกับรายจ่ายของตัวเอง แต่หากใครที่ไม่โอเคกับทางเลือกแรก ลองมองหาที่พักอาศัยที่เหมาะสมกับรายรับ
ของตัวเองดีกว่าไหม โดยเฉพาะคนที่เช่าอาศัยอยู่ ลองตัดความไม่จำเป็นออก แล้วหาที่พักใหม่ที่ถูกลง ทำให้เรามีเงินเหลือเก็บได้มากขึ้น
6. ไม่สนเรื่องการลงทุน
บางคนกลัวว่าการลงทุนอาจจะมีความเสี่ยง เลยยังไม่กล้าลงทุนทำอะไรสักอย่าง แต่ก็มองได้อีกมุมนะคะว่า หากเราไม่เสี่ยงลงทุนไปบ้าง
ชีวิตก็คงไม่ได้กำไรสักบาทเช่นกัน ดังนั้น ลองมองหาการลงทุนที่คุณคิดว่าน่าสนใจได้แล้ว พาตัวเองออกจากความกลัว ความไม่กล้าหรืออะไรก็ตาม
ที่ทำให้คุณมัวกั๊ก ไม่ยอมลงทุนสักที แล้วมองหาการลงทุนที่คิดว่าใช่ เช่น ลองลงทุนกับกองทุนต่างๆ ซึ่งอาจจะช่วยลดภาษีตอนสิ้นปีได้ด้วย
7. หนี้บัตรเครดิตเยอะ และมักจะจ่ายได้แค่ขั้นต่ำ
บัตรเครดิตที่มีอยู่ทุกใบ ถูกรูดใช้ในวงเงินที่เกินจะเคลียร์หนี้ได้หมด และมักจะชำระหนี้ได้เพียงแค่ขั้นต่ำ
ซึ่งก็ทำให้หนี้บัตรเครดิตทบต้นทบดอกไปเรื่อยๆ และคุณก็ต้องนำเงินส่วนที่น่าจะได้เก็บออมไปจ่ายหนี้แทน
ทำให้โอกาสเก็บเงินแทบจะไม่มีเลยทีเดียว วิธีแก้ปัญหา พยายามใช้จ่ายอย่างประหยัดและเร่งเคลียร์หนี้สินจากบัตรเครดิต
ให้หมดโดยเร็วที่สุด ที่สำคัญต้องหักห้ามใจไม่ให้ใช้บัตรเครดิตที่ยังคงมียอดหนี้ค้างไว้อยู่ แต่ให้ใช้จ่ายด้วยเงินสดแทน
8. ใช้เงินฟุ่มเฟือย
เดือนๆ หนึ่งช้อปปิ้งบ่อยมาก กาแฟก็ดื่มทุกวัน แฮงก์เอาท์นี่แทบเป็นงานประจำเลยก็ว่าได้ แบบนี้จะเหลือเงินที่ไหนมาเก็บกันล่ะจ๊ะ
วิธีแก้ปัญหา เข้าใจว่าถ้าหักดิบให้เลิกฟุ่มเฟือยเลยคงทำได้ยาก แต่คุณทำได้แน่ค่ะ เพียงจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายของตัวเองทุกวัน
หรือจะใช้วิธีจำกัดงบประมาณใช้จ่ายในแต่ละวันก็ได้ ทว่าก็ต้องมีวินัยในตัวเองด้วยนะ ห้ามนอกลู่นอกทางเด็ดขาด
ยอมรับไหมละคะว่า การที่เราไม่มีเงินเก็บอย่างที่ควรจะมี ก็เป็นเพราะนิสัยการใช้จ่ายที่ไม่ได้วางแผนไปถึงอนาคต
รวมทั้งการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ที่เรายอมควักระเป๋าจ่ายออกไปแทบทุกวัน ซึ่งหากตัดรายจ่ายไม่จำเป็นเหล่านี้ทิ้งได้
พร้อมกับปรับนิสัยใช้เงินอย่างคุ้มค่ามากขึ้น อีกไม่นานก็คงมีเงินเก็บเป็นถุงเป็นถังได้เหมือนคนอื่นเขาแล้วล่ะ
ที่มา : b u s i n e s s i n s i d e r