9 เคล็ดลับเอาตัวให้รอด ในยุคที่ข้าวยากหมากแพง

9 เคล็ดลับเอาตัวให้รอด ในยุคที่ข้าวยากหมากแพง

สภาพเศรษฐกิจตอนนี้ สินค้าอุปโภคบริโภค ต่างพากันแห่ขึ้นราคา แต่สิ่งที่ไม่ยอมขึ้นตามไปด้วย ก็คือรายได้ของเรา

ช่างสวนทางกับรายจ่ายเหลือเกิน เราจึงนำเคล็ดลับดีๆ ปรับตัวให้อยู่ได้อย่างมีความสุข ในยุคข้าวยากหมากแพงแบบนี้มาฝาก

1. ทำบัญชีรายรับรายจ่าย

ช่วยให้เรารู้ว่า แต่ละวันได้ใช้จ่ายอะไรไปบ้าง รู้ว่าเงินส่วนไหนที่เราใช้จ่ายไป เป็นสิ่งฟุ่มเฟือย เพื่อวางแผนการใช้เงินต่อไป

2. วางแผนการใช้เงิน

จะช่วยให้เรามีเป้าหมายในการใช้จ่าย ทำให้เงินทุกบาทที่เราใช้จ่ายไปนั้น คุ้มค่ามากที่สุด

แถมยังทำให้เรามีเงินแบ่งไว้เก็บออม และประมาณการใช้เงินในแต่ละเดือนได้อีกด้วย

3. ทำกับข้าวกินเองที่บ้าน

เปลี่ยนนิสัยจากที่เคยออกไปกินข้าวนอกบ้าน ก็กลับมากินข้าวที่บ้าน ทำอาหารกินเอง เพราะอาหารหลายอย่าง

สามารถหาซื้อวัตถุดิบได้ในราคาประหยัด แถมยังสะอาด คุ้มค่า และยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

หรือแม้แต่กาแฟที่บางคนอดกินไม่ได้นั้น ที่จริงแล้วเราก็สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ในราคาที่ถูกกว่ามาก

4. ใช้เงินสดทุกครั้ง

ในยุคนี้หันไปทางไหน ก็มีบัตรเครดิตกันแทบทุกคน แต่รู้หรือไม่ว่า การใช้บัตรเครดิต ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีเสมอไป

ถ้าเราใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตตลอด จะทำให้เหลือเงินสดใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ผลที่ตามมาก็คือ ใบทวงหนี้บัตรในเดือนถัดไป

เมื่อถึงตอนที่ต้องจ่ายหนี้บัตรแล้ว คงไม่แฮปปี้อย่างแน่นอน เงินสดก็ไม่เหลือ แถมยังรูดเยอะกว่าที่จ่ายไหวอีก แบบนี้แย่แน่

5. ยับยั้งชั่งใจ

เมื่อสินค้าทุกอย่าง พากันขึ้นราคา พกเงินไปเท่าเดิม แต่ได้สินค้ากลับมาน้อยกว่าเดิม

ดังนั้นในยุคนี้ การยับยั้งชั่งใจ ไม่ให้จับจ่ายใช้สอยแบบเดิมๆ จึงมีความจำเป็นอย่างมาก

6. เลี่ยงมุมล่อใจให้ควักเงิน

ตอนออกไปจับจ่ายใช้สอย ซื้อสิ่งของจำเป็นเข้าบ้าน ให้จดรายการเอาไว้ด้วย และซื้อของ

ตามรายการที่จดเอาไว้เท่านั้น เพียงแค่นี้เราก็จะไม่ถูกโน้มน้าวใจ จากป้ายโฆษณาต่างๆ แล้วล่ะ

7. มองหาความสุขให้ชีวิต โดยไม่ต้องใช้เงินเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยน

ปรับเปลี่ยนกิจกรรมในวันหยุด จากการไปเดินเล่น ช้อปปิ้งในห้างหรู เป็นนอนดูโทรทัศน์อยู่บ้านกับครอบครัว

หรือพากันไปออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ นอกจากจะประหยัดแล้ว ยังทำให้ครอบครัวอบอุ่น และมีสุขภาพแข็งแรงอีกด้วย

8. หาทางเลือกอื่น

คิดแนวทางไว้หลายๆ แบบ ที่จะช่วยให้เราประหยัดขึ้นได้ เช่น การเดินทางไปทำงาน ถ้าเราออกจากบ้านเร็วกว่าเดิม

ไม่ต้องรีบร้อน รถไม่ติด จะประหยัดน้ำมันมากขึ้นหรือไม่ หรือถ้าจะซื้อของ ก็ลองคิดดูว่าจำเป็นต้องซื้อจริงเหรอ

ของที่มีอยู่ ยังใช้การได้หรือเปล่า และจากที่เคยดื่มน้ำแร่ จะเปลี่ยนมาดื่มน้ำเปล่าธรรมดาได้ไหม อะไรแบบนี้

ลองคิดไว้หลายๆ ทาง แล้วเลือกใช้ทางที่เรายอมรับได้ เชื่อว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อีกเยอะเลยล่ะ

9. เหลือมากก็ออมมาก

ต่อให้ข้าวของราคาแพงแค่ไหน แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ นิสัยรักการออม ถ้ามีเงินเหลือน้อย ก็ออมน้อย

ถ้ามีเงินเหลือมาก ก็ออมมาก สิ่งสำคัญไม่ใช่จำนวนเงิน แต่เป็นการปลูกฝังนิสัยในด้านดีต่างหาก

สุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์ ไม่ใช่คนอื่นเลย แต่เป็นอนาคตที่ดีของตัวเราเอง

เคล็ดลับที่เรานำมาฝากวันนี้ ลองเอาไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเองดูนะ

เพื่อที่จะทำให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีเงินเหลือเก็บออม ในยุคของแพงแบบนี้

ขอขอบคุณ S a n o o k

เรียบเรียงโดย อ่านสนุก