“ตอนตกงาน” จะตั้งหลักชีวิตอย่างไร พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

“ตอนตกงาน” จะตั้งหลักชีวิตอย่างไร พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

การตกงานมีสาเหตุได้หลายอย่าง บางคนสมัครใจว่างงานด้วยตัวเอง ในขณะที่บางคนโดนบริษัททำร้าย

ด้วยการเชิญให้ออกจากงาน ถ้าใครโดนอย่างหลัง ก็คงมีบ้างที่จะรู้สึกเสียใจ เสียเซลฟ์ เสียศูนย์

แต่เมื่อเวลาล่วงเลย อยากจะกลับมาโชว์ความสามารถในออฟฟิศอีกรอบ จะทำยังไงดี

ว่างงานไปช่วงหนึ่งแล้ว กลัวโดนปฏิเสธอีกรอบ วันนี้มีเคล็ดลับ 5 ข้อ มาแนะนำกันค่ะ

1. มองหางานที่คิดว่าเหมาะสมจริงๆ

จริงๆ แล้วการที่ว่างงาน ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะมีเวลาใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์

และได้ใช้เวลาตระหนักถึงความต้องการที่แท้จริงของชีวิตมากขึ้น ลองคิดดูว่าเรามีความสามารถ

ความถนัด หรือความชอบด้านใดเป็นพิเศษ และนอกเหนือไปจากนั้น อย่าลืมเรียงลำดับความสำคัญด้านอื่นๆ

ที่ต้องคำนึงถึงในการสมัครงานด้วย เช่น สวัสดิการ ค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล

และอื่นๆ คราวนี้เมื่อเราต้องหางานใหม่อีกครั้ง จะได้เลือกงานที่ใช่กับเรามากที่สุด

2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เมื่อมีโอกาสได้ว่างงาน บางทีอาจมีเผลอใช้ชีวิตตามสบายเกินไปบ้าง เช่น นอนตี 3 ตื่นบ่าย 2 ตื่นแล้วไม่อาบน้ำ ไม่แต่งตัว

เมื่อคุณอยากจะกลับเข้าตลาดงานอีกครั้ง คงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กลับเข้ามาให้ใกล้เคียงวงจรชีวิตคนทำงานมากที่สุด

พยายามใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ด้วยการเข้าเว็บไซต์หางาน หรือถามหาโอกาสการรับคนเข้าทำงานจากเพื่อนฝูง หรือญาติพี่น้อง

หาความรู้รอบตัวที่เกี่ยวข้องกับตลาดงานจากทุกสื่อให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อเตรียมความพร้อมกับการถูกเรียกสัมภาษณ์งานอีกครั้ง

3. ปรับปรุงเรซูเม่

หยิบเรซูเม่ฉบับเก่าขึ้นมา แล้วอัปเดตเสียใหม่ ถ้าคุณมีโอกาสอันดีได้ทำงานฟรีแลนซ์ หรือโปรเจกต์อื่นใดในช่วงที่ว่างงานอยู่

ก็อย่าลืมเพิ่มเติมลงไปด้วย จงจำไว้ว่าเรซูเม่ที่มีช่วงเว้นว่างของระยะเวลาบางช่วงไป จะเป็นช่องว่างให้บรรดาเหล่าผู้จ้างงานถามว่า

ณ ช่วงเวลานั้น เราหายไปไหนมา ทำอะไรอยู่ ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ ในช่วงที่ว่างงาน ก็อย่าลืมเอาเวลาไปพัฒนาตัวเอง

ในด้านที่เราขาดด้วย นอกจากฝึกฝนเพิ่มเติมทักษะเฉพาะตัวแล้ว ยังทำให้เรซูเม่เราดูน่าค้นหามากขึ้นกว่าเดิมด้วย

4. ปรับแก้ทัศนคติ

คนที่เคยตกงานมาในระยะเวลาหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการตกงานโดยสมัครใจ หรือด้วยภาวะจำยอมก็ตามที

อาจเป็นไปได้ว่าเกิดความหดหู่ในชีวิต เสียความมั่นใจบางส่วนจากการทำงาน หรือบางคนอาจถึงขั้นมีทัศนคติไม่ดี

กับออฟฟิศเดิม หัวหน้าเดิม แบบแค้นฝังหุ่น ถ้าคุณเข้าข่ายเป็นผู้มีทัศนคติในแง่ลบดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วล่ะก็

ขอบอกเลยว่าขอให้หยุด แล้วปรับทัศนคติใหม่ให้เป็นไปในทางบวกเสีย เพราะอะไรๆ ก็ตามที่เราคิด

มันจะยึดติดอยู่ในจิตใต้สำนึกเราอย่างเหนียวแน่น ซึ่งมีผลต่อการแสดงออกทางความคิด

และอารมณ์ของเราด้วย ความรู้สึกในส่วนนี้ ถ้าตามเราเข้าห้องสัมภาษณ์ไปด้วยคงไม่ดีแน่ๆ

เชื่อเถอะว่าทุกองค์กร อยากได้คนที่มีทัศนคติในทางบวก เข้าไปร่วมงานกับองค์กรมากกว่าแน่นอนค่ะ

5. สัมภาษณ์งานแบบมือโปร

การสัมภาษณ์งานเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากๆ สำหรับการสมัครงาน เป็นการสร้างความประทับใจครั้งแรก

ให้กับผู้ที่คุณจะเข้าไปร่วมงานด้วยในอนาคต ดังนั้น การแสดงออกในระหว่างการสัมภาษณ์งาน

จะเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญที่จะบอกว่า คุณจะได้ไปต่อหรือไม่ การแสดงออกที่ว่า ไม่ใช่แค่เพียงการพูดจาตอบคำถามเท่านั้น

แต่ยังรวมถึงการแต่งตัวไปสัมภาษณ์งานให้ถูกต้อง เหมาะสมกับกาลเทศะ สุภาพ ไม่ควรใส่สีฉูดฉาด หรือนุ่งสั้น

เพื่อแสดงออกถึงความน่าเชื่อถือของตัวเรา เตรียมเอกสารเกี่ยวข้องที่สำคัญไปให้พร้อม

(ทางที่ดีควรสอบถามทางฝ่ายบุคคล ที่โทรมานัดก่อนวันสัมภาษณ์ ว่าควรเตรียมอะไรไปบ้าง)

อุปกรณ์เครื่องเขียนสำหรับกรอกใบสมัคร และเมื่อถึงตอนที่ต้องสัมภาษณ์งาน ควรตอบด้วยเสียงดังฟังชัด

สบตาผู้สัมภาษณ์ ตอบด้วยความมั่นใจ คิดก่อนตอบ ไม่ต้องรีบ ที่สำคัญที่สุดคือ อย่าพูดโอ้อวด

อย่าโกหก หรือสร้างภาพให้เกินจริง เมื่อถูกถามว่าทำไมถึงออกจากงานเก่า ไม่ควรกล่าวพาดพิง

หรือต่อว่าที่ทำงานเก่าอย่างเด็ดขาดนะคะ จะทำให้คุณดูไม่ดีมากๆ ในสายตาของผู้สัมภาษณ์งาน และอย่าลืมเล่าด้วยว่า

ระหว่างที่คุณว่างงาน คุณได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ หรือได้รับความรู้อะไรใหม่ๆ ที่จะนำมาช่วยในการทำงาน

ครั้งต่อไปของคุณได้บ้าง ถ้าทำได้แบบนี้แล้วล่ะก็ เชื่อเลยว่าคุณจะได้งานสมตามความปรารถนาอย่างแน่นอนค่ะ

ที่มา : j o b s d b