พฤติกรรมพ่อแม่ “จอมสปอยล์ลูก” ถ้ารักลูกจริง ต้องหยุดให้ได้

พฤติกรรมพ่อแม่ “จอมสปอยล์ลูก” ถ้ารักลูกจริง ต้องหยุดให้ได้

ปัญหาครอบครัวอย่างหนึ่ง ของคู่แต่งงานที่มีลูก คือการเลี้ยงลูกอย่างตามใจจนเกินไป

ทำให้เด็กที่ถูกตามใจจากพ่อแม่ กลายเป็นเด็กสปอยล์ หรือเรียกได้ว่าการที่พ่อแม่สปอยล์ลูก (Spoil)

คือการทำให้เด็กเสียคน หรือตามใจลูกจนเกินไปนั่นเอง คุณพ่อคุณแม่อาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย

แต่จะส่งผลร้ายต่อเด็กได้ในอนาคต วันนี้เราขอพาส่องว่ามีพฤติกรรมแบบไหนบ้าง

ที่พ่อแม่รังแกฉัน ทำร้ายลูกน้อยแบบไม่รู้ตัว พฤติกรรมพ่อแม่แบบไหนที่เข้าข่ายสปอยล์ลูก

1. แสดงพฤติกรรมแย่ๆ ให้ลูกเห็น

เด็กเล็กๆ มักจะมีพฤติกรรมการลอกเลียนแบบคนใกล้ตัว ดังนั้นถ้าพ่อแม่ทำไม่ดีต่อหน้าลูก

ก็จะทำให้ลูกเลียนแบบนิสัยไม่ดีของพ่อแม่ไปได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือการแสดงออก

หากไม่อยากให้ลูกทำไม่ดี พ่อแม่ก็ไม่ควรทำเช่นกัน ไม่ว่าจะอยู่ต่อหน้าหรือลับหลังลูก

เช่น ห้ามลูกไม่ให้กินขนมกรุบกรอบ แต่คุณก็ชอบซื้อขนมเหล่านั้นมากินเอง หรือการเผลอพูดคำหยาบ

ที่อาจเป็นคำอุทาน เมื่อลูกได้ยินบ่อยๆ ก็อาจนำคำพูดที่คุณใช้บ่อยๆ มาพูดได้ เป็นต้น

2. เข้มงวดกับลูกเกินพอดี

หากคุณใช้วิธีการเลี้ยงลูกแบบเข้มงวดมากเกินไป ก็อาจจะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กขี้กลัว

ไม่กล้าตัดสินใจอะไรเอง ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง เพราะอะไรที่มันมากเกินไป

ผลลัพธ์ที่ได้มักจะไม่ดีเสมอ ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้ลูกกลายเป็นเด็กมีปัญหา

ลองปล่อยให้ลูกได้มีความคิดในการตัดสินใจ และได้ทำอะไรด้วยตัวเองดูบ้าง

3. ลงโทษลูกหนักเกินไป

เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคน อยากให้ลูกเติบโตมาเป็นคนที่ดีของสังคม เด็กๆ ควรได้รับการลงโทษเมื่อทำผิด

เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว แต่วิธีการลงโทษก็ควรเหมาะสมกับความผิดของลูกด้วย

เพราะบางครั้งลูกอาจทำผิดด้วยความไม่รู้ จึงไม่จำเป็นต้องลงโทษทุกครั้ง แต่เริ่มต้นลูกด้วยการตักเตือน

อธิบายให้ลูกเข้าใจถึงความผิด และถ้าหลังจากนั้นลูกยังดื้อ ทำผิดซ้ำๆ ก็ควรหาวิธี

ลงโทษลูกด้วยความเหมาะสมกับวัยหรือความผิด โดยหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง

4. ตามใจลูกมากเกินไป

ตามใจในที่นี้ คือการปล่อยให้ลูกอยากทำอะไรก็ทำ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ทั้งๆ ที่รู้ว่า

หากปล่อยลูกให้ทำแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็ยังตามใจลูกให้ทำ และไม่สอนลูกในสิ่งที่ควรหรือไม่ควรทำ

โดยคิดว่าเมื่อโตขึ้นลูกจะเรียนรู้ถูกผิดได้เอง ซึ่งความคิดในการเลี้ยงลูกด้วยวิธีนี้ เป็นสิ่งที่จะทำให้ลูก

ติดนิสัยไปจนโตได้ เพราะเด็กยังไม่รู้จักการแยกแยะด้วยตนเอง ดังนั้น พ่อแม่จึงไม่ควรปล่อยลูก

หรือตามใจลูกจนเกินพอดี และควรจะเป็นฝ่ายที่สอนลูกก่อนจะสายเกินไป

5. เอาใจเกินพอดี

ตอบสนองลูกด้วยการให้มากเกินไป ทั้งวัตถุและสิ่งของ เพราะหวังจะให้ลูกมีความสุข

แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่พ่อแม่ให้นั้น กลับส่งเสริมให้ลูกไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักความยากลำบาก

และการอดทนรอคอย ไม่ยอมรับกับความผิดหวัง ไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่ได้มา

กลายเป็นเด็กเอาแต่ใจตัวเอง และสุดท้ายลูกก็จะไม่มองเห็นคุณค่าของคนอื่นด้วย

การสปอยล์ลูกแบบนี้ จะส่งผลให้ลูกอยู่ยากในสังคม เมื่อเขาเติบโตขึ้น

6. ให้ท้ายลูก ให้อภัยลูกแบบผิดๆ

คุณพ่อคุณแม่ ควรเลิกคำพูดติดปากว่า “เขายังเด็ก, อย่าถือสาเด็กเลย” เพื่อปกป้องเวลาลูกทำผิด

โดยไม่สนใจเหตุผล ควรสอนให้ลูกทราบถึงเหตุผล และยอมรับความจริง หากทำผิดต้องขอโทษ

และไม่ทำผิดซ้ำอีก เพราะยิ่งถ้าสอนลูกตั้งแต่ยังเล็ก จะง่ายกว่าสอนตอนเด็กโตแล้ว

นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรพูด และปฏิบัติกับลูกในมาตรการที่ตรงกัน เพื่อไม่ให้เด็กเกิดความสับสน

อาการของเด็กเมื่อถูกสปอยล์มากเกินไป

– อารมณ์ร้อน เกรี้ยวกราด มักแสดงอาการฉุนเฉียว กรีดร้อง โมโหร้ายอยู่บ่อยครั้ง

– กระทืบเท้า ปิดประตูเสียงดัง ระบายอารมณ์ด้วยการทำลายข้าวของต่างๆ

– ต้องมีข้อแลกเปลี่ยนเสมอ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกทำอะไร มักสร้างเงื่อนไข เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ลูกปฏิบัติตาม

แต่หากทำบ่อยครั้งอาจไม่เป็นผลดีต่อเด็กค่ะ เพราะต้องสอนให้ลูกรู้จักหน้าที่ มีระเบียบวินัย

– หวงของ ควรสอนให้รู้จักแบ่งปันสิ่งต่างๆ จะช่วยพัฒนาทักษะทางด้านอารมณ์และจิตใจ อาการเอาแต่ใจจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ

คำแนะนำที่ช่วยให้เลี้ยงดูเด็ก แบบไม่สปอยล์ลูก

กำหนดขอบเขตที่เหมาะสมกับวัยของลูก เพื่อให้เด็กๆ ใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ในช่วงวัยเตาะแตะ

– กำหนดขอบเขตด้านความปลอดภัยภายนอก ตัวอย่างเช่น “อย่าแตะต้องเตาร้อน” และ “อย่าวิ่งเข้าไปในถนน”

ถ่ายทอดสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ พูดคุยถึงเหตุผล บอกถึงปัญหาที่จะตามมาหากทำสิ่งนั้น

และเสริมสร้างพฤติกรรมทางสังคมเชิงบวกในลักษณะเดียวกัน สั่งสอนลูกถึงสิ่งที่ควรปฏิบัติ เช่น กล่าวขอโทษและขอบคุณ

หรือเล่นอย่างอ่อนโยนกับเพื่อน ควรหมั่นเสริมสร้างพฤติกรรมเชิงบวกให้ลูก มากกว่าพฤติกรรมเชิงลบ

– พูดคุยกับลูกอย่างเปิดเผยและมีเหตุมีผล เมื่อพวกเขาโตขึ้น “เด็กในวัยเรียนและวัยรุ่น สามารถเข้าใจคำพูดได้ดีกว่าเด็กเล็ก

ดังนั้น ให้พยายามคิด พูดคุยปัญหาร่วมกัน เช่น เมื่อลูกทำผิด ให้คุณพ่อคุณแม่ถามลูกว่า “ทำไมลูกถึงทำเช่นนี้”

เด็กอาจไม่สามารถบอกคุณได้ แต่ถ้าพูดว่า “พ่อ/แม่สงสัยว่าทำไมสิ่งนี้ถึงเกิดขึ้นอีก” คำถามปลายเปิดอาจทำให้ลูก

รู้สึกสะดวกใจ และเล่าให้ฟังอย่างไม่เกร็งได้ คำตอบของลูกในบางครั้ง อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่แปลกใจก็เป็นได้

– อยู่ในความสงบ ระงับสติอารมณ์ เมื่ออารมณ์เสีย แม้แต่ผู้ใหญ่เอง ก็อาจแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีออกมา

จะทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกแย่ และควบคุมตัวเองไม่ได้ (เหมือนเด็กนิสัยเสีย) และการแสดงพฤติกรรม

ไม่ดีเหล่านี้ ไม่ได้สอนให้เด็กมีพฤติกรรมดีขึ้น แถมอาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบอีกด้วย

– คงเส้นคงวา เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกอย่างสม่ำเสมอ

– มีกฎระเบียบร่วมกันที่ดี เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ครอบครัวคือจุดเริ่มต้นของสังคม จึงควรมีกฎที่อยู่ในข้อตกลงร่วมกัน

เพื่อให้ลูกปฏิบัติตาม และแจ้งให้ทราบว่าถ้าลูกไม่ปฏิบัติตาม จะมีผลตามมาสำหรับพฤติกรรมบางอย่าง เช่น

ถ้าลูกเล่นของเล่นแล้วไม่เก็บ แม่จะเก็บของนี้แล้วไม่ให้เล่นอีกนะ หรือวางของเกะกะ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เป็นต้น

สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการปลูกฝังนิสัยที่ดีให้ลูก คือการเริ่มต้นแต่เนิ่นๆ และทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกำหนดขีดจำกัด

ทำความเข้าใจความต้องการด้านพัฒนาการของทารกและเด็กเล็ก อาจจะต้องใช้เวลาแต่จะเกิดผลดีต่อตัวเด็กในระยะยาว

แน่นอนว่าการเลี้ยงลูกด้วยวิธีแบบนี้ ย่อมไม่ส่งผลดีทั้งต่อตัวลูกและพ่อแม่ การสปอยลูกมากเกินไปอาจทำให้

เด็กโตขึ้นเห็นแต่ประโยชน์ของตนเอง และไม่คำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่น หรือประโยชน์ของสังคมส่วนรวม

ดังนั้น ถ้าพ่อแม่อยากเลี้ยงลูกแบบมีคุณภาพ ลองมองดูว่าตัวเองเข้าข่ายพฤติกรรมเหล่านี้หรือไม่

ควรหยุดสปอย์ลูกแบบไม่มีเหตุผล และหาวิธีเลี้ยงลูกอย่างถูกหลัก ก่อนที่จะสายเกินแก้

และเพื่อให้ลูกได้เติบโตมาเป็นคนดี มีคนที่รัก อยู่ในสังคมที่เขาจะเติบโตขึ้นมาได้อย่างมีความสุข

ขอขอบคุณ a s i a n p a r e n t