1. รู้สึกว่าอยู่ต่อไปยังไงก็ไม่โต
ถ้ารู้สึกว่าตัวเองไม่มีโอกาสก้าวหน้าในที่ทำงานเลย ก็ไม่แปลกที่จะนึกถึงเรื่องหางานใหม่
เพราะโอกาสในการก้าวหน้า คือเป้าหมายสำคัญในการทำงานของมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา
ซึ่งโอกาสในการก้าวหน้าที่หมายถึง อาจไม่ใช่แค่การเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นเพียงอย่างเดียว
แต่มันอาจจะหมายถึง การได้รับโอกาสใหม่ๆ เช่น การได้รับมอบหมายให้ทำโปรเจกต์ใหม่
ได้ทำสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน หรือได้เรียนรู้งานจากระดับหัวหน้างาน ยังไงก็ตาม
ก่อนที่คุณจะรีบลาออกจากงานด้วยเหตุผลนี้ ลองเข้าไปคุยเรื่องนี้กับหัวหน้างานก่อนจะดีที่สุด
แต่ถ้าคุยแล้วยังดูไม่มีโอกาสล่ะก็ อย่ารอช้าที่จะลาออกมาหาที่ที่ให้โอกาสคุณก้าวหน้ามากกว่านี้
2. พูดคุยเรื่องงานในแง่ลบให้คนในครอบครัวฟัง
ช่วงเวลาสุขสันต์อย่างเวลาทานข้าวกับครอบครัว จากที่เคยเป็นการพูดคุยเรื่องราวสนุกสนานในที่ทำงานของเรา
วีรกรรมน่าสนุกของลูกที่โรงเรียน และวางแผนไปเที่ยวด้วยกันในวันหยุดยาวที่จะมาถึง ถูกแทนที่ด้วยการถูกตำหนิ
และถูกต่อว่าจากที่ทำงานของเราเป็นหัวข้อหลัก แทรกด้วยพฤติกรรมที่ไม่ดีของเพื่อนร่วมงาน วันแล้ววันเล่า
ที่คนในครอบครัวของเราได้รับฟังแต่เรื่องงานในเชิงลบ หากสถานการณ์นี้ยังเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ
และมีแนวโน้มว่าจะบ่อยขึ้นเรื่อยๆ เราอาจต้องเริ่มพิจารณาถึงงานของเราอย่างจริงจังมากขึ้นแล้ว
3. เบื่อและไม่อยากทำงาน
ภาพที่ทุกคนจำได้ ว่าเราคือเบอร์หนึ่งในแผนกหายไป ทุกวันนี้แค่จะเข็นให้งานเสร็จสักชิ้นในแต่ละสัปดาห์ยังยากเลย
เพราะเราเริ่มเช็กโซเชียลทุกๆ สิบนาที การทำงานกลายเป็นสิ่งสุดท้ายที่คิดถึง หมดความกระตือรือร้น
และเบื่อหน่ายอยู่ตลอดเวลา งานที่ได้รับมอบหมายมาถูกปล่อยค้างเอาไว้ ซึ่งนอกจากกระทบต่องานของตัวเองแล้ว
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังส่งผลให้เริ่มมีปากเสียงกับเพื่อนร่วมงาน เนื่องจากงานของเราช้าเกินกำหนด กระทบต่อระบบการทำงานในแผนก
หนักกว่านั้นคือการทะเลาะกับหัวหน้า จนทำให้รู้สึกว่า เราไม่สามารถควบคุมอะไรในการทำงานได้เลย
4. คิดถึงภาพตอนเกษียณ
ถ้าอยู่ๆ ก็จินตนาการภาพตัวเองปลดเกษียณ หยุดทำงาน และนอนพักผ่อนอยู่บ้าน บางคนถึงขั้นนับปี นับเดือน นับวัน
ที่จะเกษียณจากงานที่ทำอยู่ตอนนี้เลย เพราะในแต่ละวันนั้นไม่ได้มีแรงจูงใจให้อยากไปถึงที่ทำงาน ไม่ได้มี Passion
ที่อยากจะสร้างสรรค์ สิ่งที่มีคุณค่าออกมา ชีวิตการทำงานหมดไปกับงานที่ทำแบบส่งๆ เท่านั้น ก็อาจจะถึงเวลาที่เราต้องเริ่ม
มองหาทางใหม่ๆ ได้แล้ว เพราะการนิ่งดูดายต่อเวลาที่ผ่านไปแบบนี้ ไม่สามารถช่วยให้ความหวังที่จะเกษียณเป็นจริงได้แน่นอน
5. เริ่มมองหางานใหม่
ถ้าเว็บที่เราเข้าเริ่มเปลี่ยนเป็นเว็บไซต์หางาน เริ่มพิมพ์คำว่า “หางาน” ลงไปใน Search Engine นั่นเท่ากับว่าเรา
ผ่านจุดสุดท้ายของความอดทนในงานปัจจุบันไปแล้ว และหากทุกวันมีแต่คำว่า “ฉันจะหางานใหม่” แวบเข้ามาในความคิด
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม อาจไม่เป็นการดีที่เราจะใช้ชีวิต ด้วยการทนทำงานที่ไม่สร้างความสุขแบบนี้ต่อไป
ซึ่งนอกจากจะเป็นผลเสียต่อตัวเองแล้ว ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน รวมถึงบริษัทก็ต่างได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน
6. ระบบชีวิตพัง
จากที่เคยเป็นคนนอนหลับง่าย กลายเป็นคนนอนไม่หลับ ตื่นมากลางดึกบ่อยๆ เพราะต้องเก็บเอาความเครียด
จากเรื่องงานไปนอนฝัน นี่คือจุดเริ่มต้นของระบบชีวิตที่แปรปรวน หนำซ้ำบางคนจากที่เคยสุขภาพแข็งแรง
กลับมีอาการป่วยบ่อยขึ้น ซึ่งการป่วยทางกายนี่แหละ ที่เป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งได้เช่นกันว่า สุขภาพจิตของเรา
อาจจะกำลังแย่ไปด้วย นอกจากนี้หากงานรบกวนความคิด จนทำให้ทุกๆ เย็น ต้องนัดเพื่อนออกไปสังสรรค์
เพื่อให้หายเครียด จนเริ่มมีสโลแกนติดปากในหมู่เพื่อนว่า “ดื่มเพื่อให้ลืมงาน” ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนครั้งใหญ่
ว่างานนี้อาจจะไม่เหมาะกับเราอีกต่อไป เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ถึงจะรู้สึกว่ามีหลายสัญญาณที่ตรงกับเราแล้ว
ก็อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจลาออกจากงาน ทางที่ดีกว่าคือ การเริ่มตรวจสอบตัวเอง พิจารณาว่า
เรากำลังเผชิญกับปัญหาอะไร เราแก้ไขให้มันดีขึ้นได้ไหม เพราะหากปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น มีสาเหตุจากตัวเราเอง
ไม่ว่าจะเปลี่ยนงานอีกกี่แห่ง ปัญหานี้ก็ไม่หายไป ค่อยๆ วางแผนและตัดสินใจอย่างรอบคอบ
เชื่อว่าทุกคนสามารถกลับมามีความสุข สร้างสมดุลทั้งชีวิตและการงานในอนาคตได้อย่างแน่นอน
ที่มา : j o b t h a i